ลองอ่านบทความพิเศษในนิตยสารสารคดี
ลองอ่าน 478 มกราคม 68 “สงครามลับ" ในลาว
ผ่านมาเกินครึ่งศตวรรษ “สงครามลับ” หรือกรณีทหารไทยไปรบในลาว เป็นเรื่องแปลกและแทบจะไม่เคยได้ยิน ทั้งกับคนที่เกิดร่วมสมัยนั้นและคนสมัยหลัง ยิ่งกับคนรุ่นใหม่ หากมีผู้เฒ่าผู้แก่สักคนหนึ่งออกมาเล่าตามสื่อออนไลน์ว่าเคยไปรบในลาว ประเทศเพื่อนบ้านที่คนไทยคุ้นเคย ก็อาจจะไม่เชื่อง่ายๆ สารคดี ออกเดินทางข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปยังอดีตสมรภูมิลับ นำข้อมูลบางอย่างที่ถูก “ลดชั้นความลับ” มานำเสนอผู้อ่านเท่าที่เราจะทำได้ อาจช่วยให้เรา “เข้าใจอดีต” และอยู่กับ “ปัจจุบัน” ได้อย่างเท่าทันมากขึ้น
ลองอ่าน 477 อยู่ดี ตายดี The Stories of Life and Death ธันวาคม 67
ค่ายสารคดีเดินทางมาถึงปีที่ 19 กับการสร้างคนบันทึกสังคม เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน ช่างภาพ และวิดีโอครีเอเตอร์ โดยมีธีมงานประจำค่ายปีนี้คือ “อยู่ดี ตายดี” เมื่อคนหนุ่มสาวเยาวชนมาร่วมค่าย ร่วมเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องการอยู่ดีตายดีแล้วเป็นผู้สื่อสารเรื่องนี้ออกสู่สังคม จึงเต็มไปด้วยแง่มุมที่หลากหลาย ปะติดปะต่อกันเป็นธีมเรื่องเล่าที่หวังว่าผู้อ่านจะได้สัมผัสคุณค่าและความหมายของการ “อยู่ดี ตายดี” เพื่อพิจารณาสมาทานกันตามจริตอัธยาศัยของแต่ละปัจเจก
ลองอ่าน 476 พฤศจิกายน 67 สายน้ำที่ถูกสาป
ทั่วทุกภาคของประเทศไทยเต็มไปด้วยแหล่งน้ำที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต หลายปีที่ผ่านมาแม่น้ำ ลำธาร คูคลอง เสื่อมโทรมลง ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่น้ำกำลังถูกทำลาย และชะตากรรมของแม่น้ำก็คือชะตากรรมของมนุษย์ ขณะที่มนุษย์มองเห็นแต่มวลน้ำในแม่น้ำ ใครกันจะเรียกร้องสิทธิให้กับแม่น้ำในฐานะระบบนิเวศที่มีชีวิต
ลองอ่าน 475 ตุลาคม 67 ชาติพันธุ์อีสาน หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง
ตามความจริงพื้นที่อีสานเป็นถิ่นฐานของคนนับสิบชาติพันธุ์ด้วยรูปพรรณ ผิว ผม เสื้อผ้า อาหาร ประเพณี และวิถีชีวิตใกล้เคียงกัน ทำให้ยากจะแยกแยะได้จากเกณฑ์ทางกายภาพและโดยการนิยามความหมายของ “ชาติพันธุ์” การบ่งชี้ชาติพันธุ์จึงยากที่จะดูจากเพียงรูปกายภายนอกและเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากกว่าคือแบ่งด้วยเกณฑ์ทางภาษา ซึ่งสารคดีฉบับ “ชาติพันธุ์อีสาน หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง” ได้เลือกกลุ่มชนเจ็ดกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ของตนชัดเจนมานำเสนอเพื่อรู้จัก “อีสาน” ในมิติ “ชาติพันธุ์”
ลองอ่าน 474 กันยายน 67 แกะรอยแผนที่ จากคนทำถึงคนกาง
สมัยนี้แล้วใครยังมานั่งกางแผนที่กระดาษ? เมื่อลองสำรวจคนรอบข้างกลับพบว่ายังมีจำนวนไม่น้อยในหลากหลายอาชีพเลือกกางแผนที่เป็นประจำ เหตุผลพวกเขาสอดคล้องไปทางเดียวคือ "สิ่งที่ต้องการ" ไม่มีในแผนที่ดิจิทัล ศาสตร์แห่งแผนที่มีความเป็นมายาวนานหลายพันปี และมีผู้คนมากมายที่ทุ่มเทชีวิตให้ เบื้องหลังการสร้างแผนที่นั้นต้องอาศัยทั้งศิลปะ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการเมือง ชวนมาแกะรอยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ของการสร้างแผนที่และการใช้งานแผนที่
ลองอ่าน 473 สิงหาคม 67 รักษ์นก นอกเขตอนุรักษ์
ประเทศไทยเป็นเขตกระจายพันธุ์ของนกนานาชนิดและถิ่นอาศัยของนกไม่ได้มีเฉพาะในเขตคุ้มครองทางกฎหมาย สวนผลไม้ ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ หาดเลน หาดทราย นาเกลือ ทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม กระทั่งในเมือง ล้วนเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่ของนก ทั่วโลกกำลังเผชิญการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การอนุรักษ์พื้นที่ OECMs อันเป็นถิ่นอาศัย แหล่งอาหาร เส้นทางการบินของนกต่างๆ อาจนำไปสู่การสร้างความร่วมมือดูแลรักษาพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญสู่การฟื้นคืนความสมดุลของมนุษย์กับธรรมชาติ
ลองอ่าน 472 กรกฎาคม 67 ๒๐ ปี “ตากใบ” : ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ บาดแผล
“เหตุการณ์ตากใบ” ที่อำเภอสุดแดนใต้ฟากอ่าวไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ถูกนับเป็นเหตุการณ์ชุมนุมที่มีคนตายมากที่สุด เป็นการสูญเสียชีวิตคนบริสุทธิ์ที่มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าลือหรือตำนานปรัมปรา และเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของคนท้องถิ่นที่มีต่อรัฐมากที่สุด แต่ว่านั่นไม่ใช่จุดแรกของความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
ลองอ่าน 471 มิถุนายน 67 ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ นายกฯ ที่ถูกลืม
นาม “พจน์ พหลโยธิน” หรือ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ทุกครั้งที่เอ่ยถึงเหตุการณ์การอภิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ถูกกล่าวถึงอย่างย่นย่อ แม้มีบทบาทเป็นถึง “หัวหน้าคณะราษฎร” พระยาพหลฯ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่า “มือสะอาด” ที่สุดคนหนึ่ง ห้าปีที่เขาเป็นนายกฯ ยังเป็นยุค “ฟื้นฟู-วางรากฐาน” ของระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจชาตินิยม ในโอกาส ๙๒ ปี “ประชาธิปไตยไทย” สารคดี ขอชวนท่านผู้อ่านทบทวนเรื่องราวของ ๒๔๗๕ อีกครั้ง ผ่านชีวิตของพระยาพหลฯ “นายกฯ ที่ถูกลืม”
ลองอ่าน 470 พฤษภาคม 67 แมวววว...
แมวววว...เสียงจากเวทีประกวด บรีดเดอร์ ถึงทาสแมว ข้อมูลปี 2567 ประเมินว่าทั่วโลกมีแมวบ้านอยู่กว่า 350 ล้านตัว และแมวจรกว่า 480 ล้านตัว หากจะนับจำนวนสายพันธุ์แมวบ้าน ก็มีอยู่ราว 42 ถึง 100 สายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับสถาบันหรือสมาคมแมวที่กำหนดมาตรฐาน แต่ถ้าจะแบ่งกันเองแบบง่ายๆ ก็คงเป็นพันธุ์ขนสั้นกับขนยาว นอกจากคอยใส่ใจด้านสุขภาพและเอาใจปรนนิบัติตั้งแต่เกิดแล้ว การปกป้องตระกูลนายทาสให้เป็น “สายเลือดแท้” ก็กำลังเป็นภารกิจที่บรรดาทาสแมวให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ลองอ่าน 469 เมษายน 67 หมอลำ รถแห่ ซอฟต์พาวเวอร์ อีสานร่วมสมัย
ทำไม “หมอลำ” วัฒนธรรมความบันเทิงเก่าแก่ของอีสานจึงไม่เคยห่างหายแม้ล่วงผ่านยุคสมัย นับตั้งแต่บรรพชนรู้จักหลอมโลหะมาทำเป็นลิ้นแคน จากนั้นมาเสียงแคนก็คงไม่เคยเงียบหายจากถิ่นลุ่มน้ำโขง ตามบันทึกที่ปรากฏอยู่บนประติมากรรมสำริด อีกด้านยังปรับตัวเข้าสู่ผู้ฟังรุ่นใหม่ด้วยการย่อเวทีกว้างใหญ่กับตู้ลำโพงกระหึ่มมาอยู่บนรถบรรทุกคันเดียว
ลองอ่าน 468 มีนาคม 67 40 Years of Storytelling
นิตยสารสารคดีรับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวให้กับคนไทยมา 40 ปีแล้ว ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ งานเขียน “สารคดี” เปลี่ยนแปลงไปมากมาย คนเล่าเรื่อง…เขาเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องราวที่เล่า…เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ขนาดไหน ขณะที่ storytelling คือการเล่าเรื่องแทรกตัวอยู่ในทุกสิ่ง ดังที่มีคำบอกว่า “เราทุกคนคือผู้เล่าเรื่องราว และเราคือเรื่องราวที่เราเล่า” ในวาระขึ้นปีที่ 40 สารคดีจึงชวนผู้อ่านมาฟังเรื่องเล่าของหลากหลายนักเล่าเรื่อง
ลองอ่าน 467 กุมภาพันธ์ 67 Eat Pray Art with “Bro! Ganesha”
เรื่องราวของพระพิฆเนศวร คเณศ หรือกาเนชา เปรียบดังเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาเหลือคณานับทั้งจำนวนและรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งสำนวนใกล้เคียงและขัดแย้งหากมีผู้พึงสดับและนับถือท่านก็จะยังอยู่กับมนุษย์เหนือกาลเวลา เชื่อกันว่าหากภักดีต่อเทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้างพระองค์นี้อย่างใกล้ชิดหมั่นบูชาและอยู่ในสายพระเนตรปัญญาและความสำเร็จก็ย่อมเกิดขึ้น เมื่อโลกหมุนมาถึงปัจจุบันสมัยรูปเคารพที่ดูจริงจังขรึมขลังตามเทวาลัยและสถานที่สำคัญยังคงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและแม้จะมีงานศิลปะรูปแบบใหม่ๆ ที่ลดทอนความน่าเกรงขามและย่อส่วนให้ท่านกลายเป็นโลโก้สินค้า เครื่องประดับ อาร์ตทอย ฯลฯ ก็มิได้สั่นคลอนความเชื่อและศรัทธาใด ตราบที่มนุษย์ยังปรารถนาปัญญาและความสำเร็จ พระคเณศก็จะเป็นองค์ปฐมแห่งการบูชาและระลึกถึงเสมอ