สำรวจโลกของกล้วยไม้
จากปลายพู่กันของ
เอกณัฏฐ์ คูเจริญชัยมานที
พฤกษศิลป์
พฤกษศิลปิน
เรื่อง : ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนประกวดวาดภาพประจำชั้นเรียน ทำให้หลงนึกไปว่าตนเองมีฝีมือไม่แพ้ใคร ต่อมาเมื่อได้เห็นภาพวาดจากนักวาดชั้นครู ผู้เขียนก็รู้ตัวว่าการวาดภาพคงไม่ใช่เส้นทางที่ถูกต้องสำหรับตนเองนัก
ความงามทางศิลปะเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะให้นิยามว่าเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างนั้นก็มีมาตรฐานการเริ่มต้นวาดภาพกล้วยไม้ของชายวัยเลยกลางคนมาแล้วจึงอาจไม่ใช่เส้นทางที่คุ้นชินกัน
“ครั้งแรกคือตรงชั้น ๕ ของหอศิลป์ (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ลานกิจกรรมหน้าบันไดเลื่อน เขาสอน ผมก็นั่งวาด มีต่างชาติมายืนมองยืนจ้อง ด้วยความที่เราไม่เป็น กระดาษ พู่กัน สีก็ซื้อผิด วาดไปมือสั่น เหงื่อแตกพลั่ก สีก็ลงไม่เป็น ผมเลยวางพู่กัน อาจารย์ถามว่าเสร็จแล้วเหรอ ผมก็บอกว่าไม่วาดแล้วครับ วาดไม่ได้” ชายร่างเล็กเล่าพลางหัวเราะร่า
เราอาจเคยเห็นภาพวาดต้นไม้ใบหญ้าหรือดอกไม้นานาพรรณที่ชวนให้เพลิดเพลินไปกับ “ความงดงาม” ของธรรมชาติ ทว่า “ภาพวาดพฤกษศาสตร์” หรือ “พฤกษศิลป์” (botanical art) นั้นแสดงลักษณะของพืชที่สมจริง มีรายละเอียดถูกต้องตามหลักทางพฤกษศาสตร์ถึงขั้นที่ผู้ชมภาพแยกได้ว่าพืชเหล่านั้น เป็นประเภทใดและใช้อ้างอิงในงานเชิงวิทยาศาสตร์ได้กล่าวได้ว่าภาพวาดพฤกษศาสตร์คือภาพที่ใช้สื่อความหมายมากไปกว่าความงาม เป็นบันทึกความหลากหลายทางพรรณพืชที่มีอยู่บนโลกนั่นเอง
“ว่านเพชรหึง Letter plant, Tiger orchid (Grammatophyllum speciosum)” ผลงานที่ร่วมแสดงในงานนิทรรศการ Botanical Art Worldwide 2025 เป็นพืชพื้นเมืองไทย ตำรายาไทยว่ามีสรรพคุณใช้แก้อักเสบจากงู ตะขาบ และแมงป่องกัดต่อย
๑
เอกณัฏฐ์ คูเจริญชัยมานที ชายร่างเล็กเจ้าของเรื่องราวข้างต้น เคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงพร้อมกับเป็นเกษตรกรในสวนส้มแถวตลิ่งชันร่วมกับคุณพ่อ ทว่าการเดินทางไปเรียนค่อนข้างยากลำบากและใช้เวลา อีกทั้งเขาเชื่อว่าความรู้นั้นล่องลอยอยู่ทุกที่ แต่ “สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ไปต่อได้คือต้องเป็นลูกศิษย์ ก็ติดมาจนทุกวันนี้นะว่าศิษย์ต้องมีครู คุณจะบอกว่าเก่งเองโดยไม่มีครู คุณโม้ ผมเชื่อแบบนั้น” เอกณัฏฐ์จึงตัดสินใจหยุดเส้นทางการศึกษาในระบบ เดินหน้าหาความเชี่ยวชาญด้วยตนเอง
ช่วงที่สวนส้มส่อแววไม่แน่นอน ผลผลิตราคาถูกสวนทางกับต้นทุนที่แพงขึ้น เอกณัฏฐ์ได้ไปเที่ยวชมพบปะกับเพื่อนที่ทำสวนอยู่หนองแขมพร้อมทั้งได้รับกล้าพันธุ์กล้วยไม้จากเพื่อน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่กระตุกความสนใจและถือเป็นก้าวแรกในวงการกล้วยไม้ของเขา
“กล้วยไม้กินไม่ได้ แต่ถ้าตัดดอกกล้วยไม้กำหนึ่งแล้วเดินไปตลาด มันเปลี่ยนเป็นเงินไปซื้ออะไรก็ได้” ปรัชญาจากพ่อของเพื่อนจุดประกายถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เอกณัฏฐ์จึงเริ่มเลี้ยงกล้วยไม้อย่างจริงจัง จากห้าเป็นสิบต้น จากสิบเป็นพันต้น จากพันเป็นแสนต้น หลายต้นกลายเป็นกล้วยไม้งดงาม แต่หลายต้นถูกแมลงทำลาย ทำให้เขาต้องเสาะแสวงหาองค์ความรู้จากหลายที่เพื่อให้กล้วยไม้เติบโตอย่างดีที่สุด
เอกณัฏฐ์จะเลือกต้นที่มีสภาพสมบูรณ์และโครงสร้างที่ดี มาเป็นแบบในการวาด บางครั้งต้องเลือกกล้วยไม้มาหลายต้น เพื่อให้องค์ประกอบที่ปรากฏบนภาพวาดสมบูรณ์ที่สุด