เปลือกหุ้มเมล็ดข้าวมีสีแตกต่างกันไปในแต่ละพันธุ์ และยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เส้นขน หรือจมูกข้าว
ข้าวปลูก ข้าวป่า ข้าวกล้อง ข้าวเปลือก
Contemporary Botanical Art
ของ ชัยวัฒน์ คุณพาณิชอนันต์
พฤกษศิลป์
พฤกษศิลปิน
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์
เมล็ดข้าว ๓๐ พันธุ์ถูกวาดลงบนกระดาษด้วยเทคนิคสีน้ำ วงนอกแสดงรายละเอียดของข้าวเปลือกพันธุ์ต่าง ๆ ส่วนวงในเป็นข้าวกล้องของข้าวพันธุ์เดียวกัน
นี่เป็นภาพวาดพฤกษศาสตร์แบบ “ร่วมสมัย” (contemporary botanical art) ที่เน้นความสวยงามและการจัดองค์ประกอบศิลป์ โดยยึดหลักความถูกต้องของลักษณะพืชเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงสีสันสัดส่วน รายละเอียดต่าง ๆ ตำแหน่งของจมูกข้าว รวมถึง “หาง” ของข้าวป่าที่ยาวกว่าข้าวพันธุ์อื่น
“นึกอยากวาดข้าว เพราะข้าวผูกพันกับคนไทย สังคมของเรามีวัฒนธรรมข้าวอยู่แล้ว และข้าวก็มีศูนย์กลางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองไทยเป็นเมืองที่ผลิตข้าวส่งออกเป็นหลัก ข้าวจึงเป็นอย่างแรกที่เข้ามาในหัว”
ย้อนกลับไปในปี ๒๕๖๕ (ค.ศ. ๒๐๒๒) สมาคมนักพฤกษศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Society
of Botanical Artists : ASBA) เริ่มประสานไปยังสมาคมนักวาดภาพพฤกษศาสตร์ในประเทศต่าง ๆ เพื่อร่วมกันจัดนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์โลกครั้งที่ ๒ หลังจากเคยจัดเมื่อ ๗ ปีก่อน โดยกำหนดหัวข้อ “ความหลากหลายของพืชปลูก” ซึ่งรวมถึง “พืชมรดก” “พืชโบราณ” และ “พืชป่าที่เกี่ยวข้องกับพืชปลูก” เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้อนุรักษ์พันธุ์พืชที่เคยผูกพันกับวิถีชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แต่เริ่มสูญหายหลงลืมกันไปในปัจจุบัน และกำหนดให้มีการจัดนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์พร้อมกันทั่วโลกในอีก ๓ ปีคล้อยหลัง ซึ่งต่อมาประเทศไทยกำหนดหัวข้อย่อยว่า “มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ”
ก่อนหน้านั้นผู้วาดภาพเมล็ดข้าว ๓๐ พันธุ์ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับข้าวมากนัก
“บังเอิญเจอน้องชาวนาคนหนึ่งจากนครสวรรค์ มาออกบูทขายข้าวสารที่งาน Sustainability Expo ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขามีรวงข้าวหลายพันธุ์มาโชว์ สะดุดใจก็เลยขอช่องทางติดต่อไว้ บอกเขาว่าถ้ามีข้าวพันธุ์ไหนน่าสนใจช่วยเรียกด้วย อยากไปดู แต่เขาก็ยุ่งจนเราเกือบจะไปวาดพืชชนิดอื่นแล้ว”
ชัยวัฒน์ คุณพาณิชอนันต์ หรือจิ๋ว จบปริญญาตรีสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยทำงานฝ่ายจัดส่งพัสดุทางอากาศของสายการบิน และฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยาน
ด้วยความรักความชอบดอกไม้เขาจึงจดบันทึกและหัดถ่ายภาพดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ด้วยฟิล์มสไลด์ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี เรียนและฝึกจัดดอกไม้สไตล์ตะวันตกเป็นงานอดิเรก รวมถึงเป็นจิตอาสาสอนจัดดอกไม้ให้ผู้ต้องขังและสอนทำดอกไม้จันทน์นานกว่า ๑๐ ปีระหว่างทำงาน
ปี ๒๕๕๘ เริ่มหัดวาดภาพสีน้ำแนว Impressionism ทั้งภาพบุคคล ทิวทัศน์ สัตว์ ดอกไม้ ต่อมาในปี ๒๕๖๑ ได้เข้าชมนิทรรศการ Botanical Art Worldwide 2018 ซึ่งจัดโดยเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ เกิดความประทับใจภาพวาดแนวนี้ จึงลองส่งผลงานในปีถัดมาและผ่านการพิจารณาให้ร่วมแสดงภาพ ทำให้ได้รู้จักผู้สนใจแนวทางเดียวกัน และมีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ซึ่งแตกต่างจากภาพวาดสวยงามทั่วไป
เจ้าของผลงานภาพวาดที่แสดงให้เห็นความหลากหลายของข้าว ทั้งข้าวป่า ข้าวปลูก เล่าถึงที่มาของภาพเมล็ดข้าว ๓๐ พันธุ์