Image

อัญชัน Butterf ly pea (Clitoria ternatea L.) ไม้เลื้อยพัน ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบมีทั้งดอกลาและดอกซ้อน พันธุ์ดอกซ้อนที่มีกลีบดอกสีน้ำเงิน นิยมใช้เป็นสีย้อมอาหาร หรือเครื่องดื่ม กระจายพันธุ์ในแอฟริกา อาระเบียนเพนินซูลา ไทยนำเข้ามาเป็นไม้ประดับ ผลงานร่วมจัดแสดงในงาน Botanical Art Worldwide 2025

Image

อัญชันงอกงาม
ตามจังหวะสีไม้

พฤกษศิลป์
พฤกษศิลปิน

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ในสตูดิโอประดับด้วยกระจกใสบานใหญ่แทนผนังบางด้าน

มีมุมสะสมพืชและแมลง-ร่องรอยสืบค้นธรรมชาติที่ครอบครัวร่วมเรียนรู้ผ่านหลากกิจกรรม แวดล้อมด้วยดอกไม้ แม้ไร้กลิ่นเพราะกำเนิดจากปลายพู่กัน สีไม้ และอุปกรณ์ขีดเขียน แต่ยามเนื้อสีเนียนนุ่มต้องแสงธรรมชาติที่ลอดผ่านกระจกก็ชวนสดชื่นรื่นตาคล้ายเข้ามาอยู่ในกรีนเฮาส์

คือพื้นที่รังสรรค์ศิลป์ของ อรวรรณ สังวรเวชภัณฑ์ พฤกษศิลปินผู้ปลูก “อัญชัน” (Clitoria ternatea L.) บนกระดาษด้วย “สีไม้” หนึ่งในผลงานที่ได้รับเลือกแสดงในนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ ครั้งที่ ๒ (Botanical Art Worldwide 2025) หัวข้อ “มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ” เพื่อสะท้อนความมั่นคงทางอาหารของไทย ใจกลางดินแดนแห่งทองคำ

ชวนเสพแนวคิดคัดสรรพืชปลูกและวิธีปรุงรูปภาพด้วยเสน่ห์พิเศษของดินสอสี

อรวรรณ สังวรเวชภัณฑ์ กับพื้นที่รังสรรค์ศิลป์ กระดาษวาดภาพ กล่องสีไม้ ถาดวางพืชต้นแบบ แท็บเลตแสดงภาพถ่าย

วิทย์สานศิลป์

สิ่งดึงดูดของภาพวาดพฤกษศาสตร์คือการใช้ศิลปะสื่อสารข้อมูลวิทยาศาสตร์

ครั้งเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายอรวรรณเป็นเด็กสายวิทย์-คณิต แต่ชัดเจนในใจว่าชอบวิชาชีววิทยาและสนใจเรื่องพืชพอกับศิลปะ  หลังเรียนจบสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะสมประสบการณ์วัยทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพควบคู่กับออกแบบผลิตภัณฑ์ของตน และใช้ความสามารถด้านศิลปะออกแบบหลักสูตรการศึกษาโฮมสกูลตามความสนใจของลูกทั้งสองผ่านสมุดบันทึกและการจัดแสดงนิทรรศการ Double Nature ที่หอศิลป์จามจุรี กระทั่งส่งลูก ๆ วัยมัธยมศึกษาตอนปลายสู่รั้วโรงเรียนแล้ว เป็นโอกาสให้อรวรรณเข้าร่วมกลุ่ม “เครือข่ายวิทย์สานศิลป์” โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการอบรมสร้างความเข้าใจวิธีถ่ายทอดความงามของธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพแก่ประชาชนทั่วไป ให้นำภาพวาดวิทยาศาสตร์ไปสื่อความหมายทางวิชาการได้

เพราะภาพวาดพืชที่สวยงามด้วยศิลปะไม่เพียงแทนคำบรรยายได้มาก รายละเอียดสมจริงที่ถ่ายทอดผ่านเทคนิคอย่างแยบคายยังจะทำให้ผู้ชมประทับใจและตระหนักถึงความสำคัญของพืช

“ก่อนหน้านั้นแค่รู้ตัวว่าชอบวาด botanical เวลาไปไหน
จะสเกตช์พืชข้างทางที่พบลงสมุดด้วยวิธีวาดจากความรู้สึก บางครั้งใส่เงาเป็นลูกเล่น วางองค์ประกอบทางศิลปะให้ดูสวย ซึ่งภายหลังพอศึกษาการวาดแบบ botanical จึงรู้ว่า
แม้จะเป็นภาพวาดต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ แต่ที่ผ่านมาสิ่งที่เราวาดนั้นคือ “f lowers painting” ไม่นับเป็น “botanical art” เพราะมันเพียงสะท้อนความงาม ให้ความรื่นรมย์ แต่ไม่ได้แสดงลักษณะละเอียดสมจริงของพืช ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรมีแสงเงาหรือพื้นหลัง ปล่อยให้เป็นสีขาวไว้ อะไรไม่ใช่อย่าเอาไปใส่ เพราะภาพวาดพฤกษศาสตร์เป็นการสื่อสารงานวิชาการกับสังคม”

ภาพวาดพืชที่สวยงามด้วยศิลปะ ไม่เพียงแทนคำบรรยายได้มาก รายละเอียดสมจริงที่ถ่ายทอดผ่านเทคนิคอย่างแยบคาย ยังจะทำให้ผู้ชมประทับใจและตระหนักถึงความสำคัญของพืช

Image

0