ลองอ่านบทความพิเศษในนิตยสารสารคดี
ลองอ่าน 474 กันยายน 67 แกะรอยแผนที่ จากคนทำถึงคนกาง
สมัยนี้แล้วใครยังมานั่งกางแผนที่กระดาษ? เมื่อลองสำรวจคนรอบข้างกลับพบว่ายังมีจำนวนไม่น้อยในหลากหลายอาชีพเลือกกางแผนที่เป็นประจำ เหตุผลพวกเขาสอดคล้องไปทางเดียวคือ "สิ่งที่ต้องการ" ไม่มีในแผนที่ดิจิทัล ศาสตร์แห่งแผนที่มีความเป็นมายาวนานหลายพันปี และมีผู้คนมากมายที่ทุ่มเทชีวิตให้ เบื้องหลังการสร้างแผนที่นั้นต้องอาศัยทั้งศิลปะ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการเมือง ชวนมาแกะรอยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ของการสร้างแผนที่และการใช้งานแผนที่
ลองอ่าน 473 สิงหาคม 67 รักษ์นก นอกเขตอนุรักษ์
ประเทศไทยเป็นเขตกระจายพันธุ์ของนกนานาชนิดและถิ่นอาศัยของนกไม่ได้มีเฉพาะในเขตคุ้มครองทางกฎหมาย สวนผลไม้ ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ หาดเลน หาดทราย นาเกลือ ทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม กระทั่งในเมือง ล้วนเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่ของนก ทั่วโลกกำลังเผชิญการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การอนุรักษ์พื้นที่ OECMs อันเป็นถิ่นอาศัย แหล่งอาหาร เส้นทางการบินของนกต่างๆ อาจนำไปสู่การสร้างความร่วมมือดูแลรักษาพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญสู่การฟื้นคืนความสมดุลของมนุษย์กับธรรมชาติ
ลองอ่าน 472 กรกฎาคม 67 ๒๐ ปี “ตากใบ” : ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ บาดแผล
“เหตุการณ์ตากใบ” ที่อำเภอสุดแดนใต้ฟากอ่าวไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ถูกนับเป็นเหตุการณ์ชุมนุมที่มีคนตายมากที่สุด เป็นการสูญเสียชีวิตคนบริสุทธิ์ที่มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าลือหรือตำนานปรัมปรา และเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของคนท้องถิ่นที่มีต่อรัฐมากที่สุด แต่ว่านั่นไม่ใช่จุดแรกของความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
ลองอ่าน 471 มิถุนายน 67 ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ นายกฯ ที่ถูกลืม
นาม “พจน์ พหลโยธิน” หรือ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ทุกครั้งที่เอ่ยถึงเหตุการณ์การอภิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ถูกกล่าวถึงอย่างย่นย่อ แม้มีบทบาทเป็นถึง “หัวหน้าคณะราษฎร” พระยาพหลฯ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่า “มือสะอาด” ที่สุดคนหนึ่ง ห้าปีที่เขาเป็นนายกฯ ยังเป็นยุค “ฟื้นฟู-วางรากฐาน” ของระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจชาตินิยม ในโอกาส ๙๒ ปี “ประชาธิปไตยไทย” สารคดี ขอชวนท่านผู้อ่านทบทวนเรื่องราวของ ๒๔๗๕ อีกครั้ง ผ่านชีวิตของพระยาพหลฯ “นายกฯ ที่ถูกลืม”
ลองอ่าน 470 พฤษภาคม 67 แมวววว...
แมวววว...เสียงจากเวทีประกวด บรีดเดอร์ ถึงทาสแมว ข้อมูลปี 2567 ประเมินว่าทั่วโลกมีแมวบ้านอยู่กว่า 350 ล้านตัว และแมวจรกว่า 480 ล้านตัว หากจะนับจำนวนสายพันธุ์แมวบ้าน ก็มีอยู่ราว 42 ถึง 100 สายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับสถาบันหรือสมาคมแมวที่กำหนดมาตรฐาน แต่ถ้าจะแบ่งกันเองแบบง่ายๆ ก็คงเป็นพันธุ์ขนสั้นกับขนยาว นอกจากคอยใส่ใจด้านสุขภาพและเอาใจปรนนิบัติตั้งแต่เกิดแล้ว การปกป้องตระกูลนายทาสให้เป็น “สายเลือดแท้” ก็กำลังเป็นภารกิจที่บรรดาทาสแมวให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ลองอ่าน 469 เมษายน 67 หมอลำ รถแห่ ซอฟต์พาวเวอร์ อีสานร่วมสมัย
ทำไม “หมอลำ” วัฒนธรรมความบันเทิงเก่าแก่ของอีสานจึงไม่เคยห่างหายแม้ล่วงผ่านยุคสมัย นับตั้งแต่บรรพชนรู้จักหลอมโลหะมาทำเป็นลิ้นแคน จากนั้นมาเสียงแคนก็คงไม่เคยเงียบหายจากถิ่นลุ่มน้ำโขง ตามบันทึกที่ปรากฏอยู่บนประติมากรรมสำริด อีกด้านยังปรับตัวเข้าสู่ผู้ฟังรุ่นใหม่ด้วยการย่อเวทีกว้างใหญ่กับตู้ลำโพงกระหึ่มมาอยู่บนรถบรรทุกคันเดียว
ลองอ่าน 468 มีนาคม 67 40 Years of Storytelling
นิตยสารสารคดีรับหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวให้กับคนไทยมา 40 ปีแล้ว ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ งานเขียน “สารคดี” เปลี่ยนแปลงไปมากมาย คนเล่าเรื่อง…เขาเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องราวที่เล่า…เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ขนาดไหน ขณะที่ storytelling คือการเล่าเรื่องแทรกตัวอยู่ในทุกสิ่ง ดังที่มีคำบอกว่า “เราทุกคนคือผู้เล่าเรื่องราว และเราคือเรื่องราวที่เราเล่า” ในวาระขึ้นปีที่ 40 สารคดีจึงชวนผู้อ่านมาฟังเรื่องเล่าของหลากหลายนักเล่าเรื่อง
ลองอ่าน 467 กุมภาพันธ์ 67 Eat Pray Art with “Bro! Ganesha”
เรื่องราวของพระพิฆเนศวร คเณศ หรือกาเนชา เปรียบดังเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาเหลือคณานับทั้งจำนวนและรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งสำนวนใกล้เคียงและขัดแย้งหากมีผู้พึงสดับและนับถือท่านก็จะยังอยู่กับมนุษย์เหนือกาลเวลา เชื่อกันว่าหากภักดีต่อเทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้างพระองค์นี้อย่างใกล้ชิดหมั่นบูชาและอยู่ในสายพระเนตรปัญญาและความสำเร็จก็ย่อมเกิดขึ้น เมื่อโลกหมุนมาถึงปัจจุบันสมัยรูปเคารพที่ดูจริงจังขรึมขลังตามเทวาลัยและสถานที่สำคัญยังคงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและแม้จะมีงานศิลปะรูปแบบใหม่ๆ ที่ลดทอนความน่าเกรงขามและย่อส่วนให้ท่านกลายเป็นโลโก้สินค้า เครื่องประดับ อาร์ตทอย ฯลฯ ก็มิได้สั่นคลอนความเชื่อและศรัทธาใด ตราบที่มนุษย์ยังปรารถนาปัญญาและความสำเร็จ พระคเณศก็จะเป็นองค์ปฐมแห่งการบูชาและระลึกถึงเสมอ
ลองอ่าน 466 มกราคม 67 CHOCOLATE IN SIAM
ช็อกโกแลต โกโก้ไทย ไปไกลแล้วคราฟต์ “อนึ่ง แขกมัวร์ในประเทศสยามดื่มกาแฟ ซึ่งมาจากเมืองอาหรับ และชาวปอรตุเกศนั้นดื่มโกโก้ เมื่อมีส่งมาจากมนิลาเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งนำมาจากอินเดียภาคตะวันออกในเขตคุ้มครองของสเปญอีกทอดหนึ่ง” ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปี 2230 บันทึกไว้ในหนังสือจดหมายเหตุของเขา (สำนวนแปลภาษาไทยโดย สันต์ ท. โกมลบุตร) นั่นหมายความว่าอย่างน้อยที่สุดมีโกโก้ให้ดื่มกันในเมืองไทยมากว่า 300 ปีแล้ว ! โกโก้คือผลผลิตจากต้นคาเคา (cacao) ต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน แม้จะเคยมีความพยายามพัฒนาให้คาเคาเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยมาหลายครั้งหลายหน แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จนัก ทว่าดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น ความนิยมในช็อกโกแลตบาร์จากผู้ผลิตรายย่อย (specialty and artisanal chocolates) ที่เน้นการผลิตจำนวนจำกัด พร้อมกลิ่นรส “taste note” เฉพาะตัว และรสชาติแปลกใหม่ที่มีความเป็นท้องถิ่น ขยายตัวจากโลกตะวันตกมาเบ่งบานทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเมืองไทย สารคดี ฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปย้อนดูตั้งแต่ความเป็นมาในประวัติศาสตร์ของ “โกโก้” และ “ช็อกโกแลต” ก่อนพาตะลุยเข้าสวนโกโก้ แวะเวียนทำความรู้จักกับ “คนโก้” บางแบรนด์บางรายเพื่อให้เห็นทั้ง “ที่มา” และ “ทางไป” แห่งรสชาติหอมหวานชนิดนี้ในเมืองไทย
ลองอ่าน 465 ธันวาคม 66 Train Stories
๑๘ กรกฎาคม ๒๔๕๒ ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแจ้งความของกรมราชเลขานุการลงพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษาว่าบัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำภาษาไทยแทนคำอังกฤษบางคำที่ใช้กันแพร่หลายกันในขณะนั้นแล้ว เช่น “คำว่าวอเตอสับไปล การจำหน่ายน้ำใช้ทั่วไป ให้เรียกว่า ประปา คำว่าสเตชั่น ให้เรียกว่า สถานี เช่น #สเตชั่นรถไฟ ให้เรียกว่า สถานีรถไฟ” คำว่า “#สถานีรถไฟ” จึงถือกำเนิดขึ้นในภาษาไทยนับแต่นั้นมา สารคดี ฉบับนี้ ว่าด้วยเรื่องราวของ สถานีรถไฟในความทรงจำ ตั้งแต่สถานีกลาง เช่น สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ “หัวลำโพง” อยุธยา หัวหิน ไปจนถึงสถานีเล็กๆ น่ารัก อย่างกันตัง พิจิตร สวรรคโลก หรือบ้านปิน พร้อมกับแนะนำให้รู้จักกับผู้คนที่อยู่เบื้องหลังความพยายามอนุรักษ์อาคารเก่าเหล่านั้น เช่น รศ. ปริญญา ชูแก้ว และกลุ่ม VERNADOC จากมิติของอดีต ยังมีหลากหลายมุมมองต่อรถไฟไทยในวันนี้ไปถึงวันหน้าและการร่วมเดินทางไปกับขบวนรถไฟสายลาว-จีน บนอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง ถ้าท่านผู้โดยสารพร้อมแล้ว โปรดจัดเตรียมสิ่งของสัมภาระให้เรียบร้อยแล้วก้าวขึ้นรถมาได้เลย!
ลองอ่าน 464 พฤศจิกายน 66 Eco Living ดิน ฟ้า ป่า น้ำ
ค่ายสารคดีสร้างคนบันทึกสังคมติดต่อกันมา ๑๘ รุ่น สองครั้งล่าสุดเพิ่มโอกาสให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจอายุ ๑๘-๒๕ ปี เข้ามาเรียนรู้การทำคลิปวิดีโอในฐานะวิดีโอครีเอเตอร์ “เด็กค่าย” ทีมหนึ่งจึงมีทั้งนักเขียน-ช่างภาพ-วิดีโอ จับมือกันสร้างสรรค์งานสารคดี หัวข้อหลัก หรือธีม (theme) ประจำค่าย ๑๘ คือ Eco Living ดิน ฟ้า ป่า น้ำ ด้วยสถานการณ์ที่โลกร้อนขึ้นทุกวัน สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจากการกระทำของมนุษย์ แนวทาง “อีโค่-ลิฟวิง” จึงน่าจะเป็นทางออกของมนุษยชาติ Eco Living มาจากการหลอมรวมคำว่า ecosystem หรือ ecology ที่แปลว่า “ระบบนิเวศ” หรือ “นิเวศวิทยา” หมายถึงสังคมของสิ่งมีชีวิตทั้งเล็กและใหญ่ที่ต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเอง และมีปฏิสัมพันธ์ต่อดิน น้ำ อากาศที่แวดล้อม ภายใต้หลักเกณฑ์แห่งความสมดุล อาจเป็นระบบนิเวศในสิ่งแวดล้อมชุมชน เมือง ป่าเขา แม่น้ำ หรือชายฝั่งทะเล เข้ากับคำว่า living ที่แปลว่า “การดำรงชีวิต” ผลงานเขียน ภาพถ่าย และวิดีโอ ภายใต้หัวข้อนี้ที่นำเสนอผ่านหน้ากระดาษและสื่อออนไลน์ของนิตยสาร สารคดี หวังว่าจะเป็นแสงสว่าง ชี้ให้เห็นทางออกบางอย่างของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชากรโลกกำลังเผชิญ คือสิ่งที่ชาวค่ายในฐานะคนบันทึกสังคมพึงทำ เพื่อเก็บรักษา ดิน ฟ้า ป่า น้ำ ส่งมอบความหวังให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป
ลองอ่าน 463 ตุลาคม 66 กบฏบวรเดช ๒๔๗๖
หากจะนับว่าการอภิวัฒน์ 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่นองเลือด เป็นลักษณะ “ประนีประนอมรอมชอม” ของสังคมไทยที่ทำให้เราเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบไม่ต้องสังเวยชีวิต ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกว่านั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะ “ฉากจริง” ของ “การอภิวัฒน์” เกิดขึ้นในปีถัดมา หลังความพยายามประนีประนอมตลอดขวบปีล้มเหลว ปลายปี 2476 ส่วนหนึ่งของเครือข่ายระบอบเก่าก็ยกกำลังเข้าปะทะระบอบใหม่ เกิดเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกในยุคประชาธิปไตยหัดเดินของสยาม สมรภูมิหลักเกิดขึ้นที่ทุ่งบางเขน ตามแนวรางรถไฟไปจนสุดขอบที่ราบสูง ผลแพ้ชนะทิ้งร่องรอยความทรงจำและมรดกทางการเมืองไว้มากมาย ยังไม่นับ “สงครามความทรงจำ” ที่ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน เมื่อประวัติศาสตร์ “กบฏบวรเดช” ถูกนำมาตีความใหม่ภายใต้สถานการณ์วิกฤตการเมืองไทยรอบล่าสุดที่กินเวลานานเกือบ 2 ทศวรรษ
ดูแผนที่กับมิตรเอิร์ธ
แกะรอยแผนที่
นักสะสมแผนที่เก่า สยาม
กำเนิดสยามจากแผนที่
แผนที่ธรณีวิทยา
แผนที่ อนุรักษ์ธรรมชาติ
แผนที่ สมุทรศาสตร์
แผนที่ทางหลวง
แผนที่ ชุมชน
แผนที่ ชุมชน สิ่งแวดล้อม