ในพิธีกงเต๊ก ดวงวิญญาณของผู้ตายจะสถิตในรูปของสิ่งสมมุติ-โคมวิญญาณที่เขียนชื่อแซ่แขวนเสื้อตัวโปรดไว้ เพื่อพระสงฆ์จะนำโคมสถิตวิญญาณประกอบพิธีขอขมากรรมในขั้นตอนต่าง ๆ
(พิธีกงเต๊กของอากงนิ้ม แซ่ตั้ง ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐)
功
德
กงเต๊ก
คนตายสอนคนเป็น
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ และ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
กง (功) คือการกระทำ เต๋อ (德) คือคุณธรรมจากการประกอบกรรมดี
มหาพจนานุกรมจีน อธิบายในทางศาสนาว่า พิธีกงเต๋อ หมายถึงสวดมนต์ บำเพ็ญภาวนา และให้ทาน โดยลูกหลานทำแก่ผู้ล่วงลับเพื่อส่งวิญญาณสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น
ส่วน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ นิยาม “กงเต๊ก” จากคำจีนกลางเป็นสำเนียงที่คนไทยคุ้นว่า หมายถึง การทำบุญให้แก่ผู้ตายตามพิธีของนักบวชนิกายจีนและญวน มีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปต่าง ๆ มีบ้านเรือน คนใช้ เป็นต้น
ลูกหลานจีนในไทยศรัทธาว่าการสวดพระอภิธรรมกงเต๊กถือเป็นการทำกุศลที่ใหญ่มากพอจะส่งให้ผู้ตายได้เดินทางสู่สวรรค์ แต่ละคนอาจเคยร่วมพิธีกับครอบครัวไม่กี่ครั้ง เพราะจะจัดแก่ผู้เสียชีวิตที่อายุเกิน ๕๐ ปีและมีทายาท บทความนี้จึงรวบรวมจากที่ได้ร่วมพิธีกับครอบครัวผู้อื่นด้วย พบเห็นธรรมเนียมต่างของแต่ละบ้าน บ้างไม่ได้ทำโดยคณะสงฆ์นิกายมหายาน (พระจีน) หรือคณะสงฆ์อนัมนิกาย (พระญวน) แต่เป็นชายผู้ถือศีลในชุดขาว บางครอบครัวลูกหลานไม่ได้สวมชุดกระสอบหรือชุดขาว กลับสวมชุดสีฟ้าสื่อสัญลักษณ์ว่าผู้ตายอายุยืนเกิน ๑๐๐ ปี และหากผู้ตายเป็นแม่ก็จะเพิ่มพิธีกรรมที่ละเอียดอ่อนต่อจิตใจกว่ากงเต๊กของพ่อ
เหล่านั้นล้วนมีนัยกตัญญู-ความหมายเปรียบเปรยที่คนรุ่นก่อนฝากฝัง
เป็นกุศโลบายเชื่อมโยง “ชีวิตหลังความตาย” เข้ากับ “วิถีของคนเป็น”
ชวนแกะรอยทางจิตวิญญาณที่คนตายอยากสอน (ให้) คน (คิด) เป็น
เสื้อผ้า
คนเป็น
เช้าตรู่ของปี ๒๕๕๓ ที่อาม่าป๋อจู แซ่อึ้ง เสียชีวิต
บรรยากาศหน้าห้องเก็บศพที่โรงพยาบาลมีอาโก สิริพร แซ่ล้อ (ลูกสาวอาม่า) กำลังเขียนคำร้องขอย้ายศพและขอหนังสือรับรองการเสียชีวิตเพื่อนำไปออกใบมรณบัตร ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลช่วยอาบน้ำแต่งศพ ฉีดยาศพ และเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวให้อาม่า เช่นที่คนไทยก็มีความเชื่อว่าเพื่อให้คนตายมีเสื้อผ้าใส่เมื่อไปถึงโลกหน้า
พิธีแต่งตัวศพลูกชายจะเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดโปรดให้พ่อแม่ หากพ่อตายจะสวมเสื้อให้สี่ตัว กางเกงสองตัว ถ้าผู้ตายเป็นแม่จะสวมผ้าถุงหรือกระโปรงแล้วทับชั้นนอกรวมเจ็ดชิ้น ตามคตินิยมที่ให้ผู้ชายใช้เลขคู่ ผู้หญิงเลขคี่ สิ่งสำคัญคือวิธีสวมเสื้อต้อง “กลับเอาด้านหน้าที่มีกระดุมไว้ข้างหลัง”
การสร้างความต่างระหว่างคนตาย-คนเป็น คนไทยเองก็มีแนวคิดว่าเสื้อผ้าที่ใส่ให้ผู้ตายต้องทำตำหนิขาดไว้ ถ้าผ้าซิ่นก็ให้นุ่งกลับหัว เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ตายรู้ว่าได้จากโลกนี้แล้ว
เรื่องนี้เมื่อวัยเด็กเคยถูกอาม่าป๋อจูดุ ตอนนั้นพ่อขับรถพาครอบครัวไปบ้านอาม่า อยู่ในรถพ่อแอร์เย็นฉ่ำจึงสวมเสื้อแจ็กเกตคลุมแบบลวก ๆ ให้สอดแขนได้พออุ่น ปล่อยเสื้อด้านหน้าที่ผ่ากลางเป็นกระดุมไปข้างหลัง เมื่อถึงบ้านอาม่าก็สวมทั้งอย่างนั้น ยังไม่ทันสวัสดีก็ถูกอาม่าติเตียนเสียงดังด้วยภาษาจีน แม่ต้องรีบกระซิบให้สวมเสื้อใหม่หรือไม่ก็ถอดเก็บ
วันที่มารับศพอาม่าวัย ๘๑ ปีจึงกระจ่างใจ ธรรมเนียม จีนถือว่ามีแต่คนตายที่สวมเสื้อกลับด้าน การไปเยี่ยมผู้ใหญ่แทนที่จะอวยพรให้อายุยืนกลับแต่งตัวเหมือนสาปแช่งจึงผิดกาลเทศะยิ่ง
ลูกชายคนโตเท่านั้นที่เป็นผู้ยกกระถางธูป และลูกชายคนรองทำหน้าที่ถือรูปผู้ตายหรือโคมสถิตวิญญาณผู้ตาย