สิ่งที่ไทยต้องทำคือ
กลับมาเป็น ‘มิตรประเทศ’
กับจีน (ไม่ใช่พี่น้อง)
ตามปรกติให้ได้
สัมภาษณ์
ผศ.ดร. พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์
ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS Thailand)
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สัมภาษณ์และถ่ายภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๒๕
ท่ามกลางข่าวคราวว่าด้วยเรื่อง “จีน” ในไทย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เรื่องที่คนจำนวนมากอาจลืมคือ ย้อนกลับไป ๕๐ ปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน (๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๕) รัฐบาลไทยที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
นี่ไม่ใช่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในภาวะปรกติ ด้วยตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ ไทยมองจีนเป็น “ภัยคุกคาม” มาตลอด ระแวงภัยคอมมิวนิสต์ กังขาความช่วยเหลือที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ (จีนแดง) มอบให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่สำคัญคือจีนเป็น “แนวหลัง” สนับสนุนรัฐบาลเวียดนามเหนือต่อสู้กับรัฐบาลเวียดนามใต้ซึ่งไทยและสหรัฐอเมริกาสนับสนุน
ค.ศ. ๑๙๗๕ เป็นปีที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อเมริกาถอนตัวจากอินโดจีน เวียดนามใต้พ่ายแพ้ถูกรวมกับเวียดนามเหนือ ลาวและกัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตและจีนขัดแย้งกัน ค่ายคอมมิวนิสต์แตกเป็นสองขั้ว เวียดนามและ สปป.ลาวเข้าข้างสหภาพโซเวียต ขณะที่กัมพูชาสนับสนุนจีน
ไทยตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์กับจีนแดงท่ามกลางบริบทเหล่านี้ จนมีทฤษฎีสมคบคิดว่าการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งนั้นทำให้ไทยแก้ปัญหาการคุกคามจากเวียดนามได้ และความสัมพันธ์นั้นก็เติบโตต่อมาจนถึงยุคที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารเคียงคู่สหรัฐอเมริกา
เรามักเห็นในสื่อว่า “จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” แต่เมื่อ สารคดี ได้สนทนากับ ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจบปริญญาเอกจากคณะรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University - ANU) ด้วยวิทยานิพนธ์ “Embracing proaction : the role of self-perception in Thailand’s post-Cold War foreign policy” ทั้งยังคลุกคลีกับการทำวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสองมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกาและจีนมาตลอด อาจารย์กลับชี้ประเด็นว่าความเชื่อนั้นต้องถูกทบทวนอย่างจริงจัง
บทสนทนานี้ว่าด้วยสายสัมพันธ์ไทย-จีนที่เดินหน้ามาครึ่งศตวรรษ ไทยควรวางตัวอย่างไรกับมหาอำนาจใหม่ และควรวางการทูตของเราไปในทางไหน
เพื่อที่ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของไทยจะไม่กระทบกระเทือน
ในวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ประโยค “จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน/
จงไท่อี้เจียชิน” (中泰一家亲) ถูกใช้อย่างกว้างขวาง อาจารย์เชื่อว่าประโยคนี้เป็นจริงหรือไม่ และมีมุมมองอย่างไรต่อคำกล่าวนี้
ไม่เชื่อครับ (หัวเราะ) ถ้าใช้ศัพท์ทางสังคมศาสตร์ นี่คือการใช้วาทกรรม (ชุดความคิด) เพื่อสร้างความใกล้ชิดเพื่อได้ผลประโยชน์บางอย่างจากการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ตอนนี้ผมกำลังเขียนบทความวิชาการที่พยายามอธิบายว่าอัตลักษณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสถานการณ์การเมืองภายในของไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในและการเข้ามามีอิทธิพลของชาติตะวันตก โดยสยามไม่สามารถควบคุมคนจีนที่อพยพเข้ามาจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังมีปรากฏการณ์อั้งยี่ มีเหตุการณ์ที่คนจีนลุกฮือในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่หลายครั้งจากความไม่พอใจรัฐบาล ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเจ้าอาณานิคมคือสยามเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ไม่สามารถใช้กฎหมาย
ควบคุมคนต่างชาติได้ คนจีนในสยามจำนวนมากก็เข้าไปเป็นคนในคุ้มครองของชาติตะวันตก ถ้าใช้กฎหมายสยามก็จะเกิดการกระทบกระทั่งกับชาติตะวันตก มีเหตุการณ์ตัวอย่างคือมีคนจีนก่อเหตุวิ่งราวทรัพย์แล้วหนีขึ้นไปบนรถรางที่บริษัทอังกฤษเป็นผู้ดำเนินการ คนร้ายอ้างว่าตนเป็นคนในคุ้มครองอังกฤษ ตำรวจสยามก็ไม่กล้าจับ
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
เพราะสยามไม่สามารถบังคับคนเหล่านี้ให้เสียภาษีได้ ปัญหาคือคนจีนกุมกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจของสยามตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะหลังจากทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ ๔ สยามโดนกำหนดภาษี ๑๐๐ ชัก ๓ ทำให้เสียรายได้เข้าท้องพระคลังมาก คนจีนจำนวนมากก็ยังส่งโพยก๊วนกลับจีนแผ่นดินใหญ่ ปัญหานี้ใหญ่มาก สยามจึงต้องพยายามทำให้คนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสังคมและอยู่ใต้กฎหมายสยามให้ได้ ถ้าจำได้เราจะเห็นความพยายามปรับปรุงกฎหมาย จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สมัยรัชกาลที่ ๖ จึงเริ่มเห็นผล