กลางปี ๒๕๑๘ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ และสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนอย่างเป็นทางการ หลังจากยุติความสัมพันธ์ไปในช่วงสงครามเย็นระหว่างประเทศฝ่ายเสรีนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกับประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
จับมือกับประธานพรรคคอมมิวนิสต์
เหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดของจีน
ปี ๒๕๖๘ จึงถือเป็นวาระครบ ๕๐ ปีของความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการ หลังยุคสงครามเย็น แต่ความจริงบนหน้าประวัติศาสตร์ ไทย-จีนมีความเชื่อมโยงกันยาวนาน
กว่า ๒,๐๐๐ ปี หลักฐานจากโบราณวัตถุบ่งบอกว่าการค้าขายระหว่างดินแดนแถบนี้กับจีนน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ขณะที่บันทึกในเอกสารต่าง ๆ ของจีนกล่าวถึง
เมืองท่าต่าง ๆ ในบริเวณที่จะเป็นรัฐสยาม มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง เช่น ศรีวิชัย ตามพรลิงก์ สุโขทัย ละโว้ โดยเฉพาะเซียน เซียนหลัว ซึ่งหมายถึงกรุงศรีอยุธยา
แล้วเมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน เรือสำเภาจีนจำนวนมากก็ข้ามน้ำข้ามทะเลออกมาค้าขาย เที่ยวมาบรรทุกสินค้าจากจีน เที่ยวกลับบรรทุกสินค้าจากดินแดนอุษาคเนย์ พร้อมกับนำพ่อค้าชาวจีนไปอยู่อาศัยตามเมืองท่าต่าง ๆ แต่ครั้นถึงสมัยราชวงศ์หมิงเกิดนโยบายผูกขาดการค้าไว้กับราชสำนัก ห้ามเอกชนจีนออกเรือ ดินแดนที่ปรารถนาจะทำการค้ากับจีนต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวายจักรพรรดิจีนก่อน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาก็ทรงยอมรับธรรมเนียมปฏิบัตินี้ที่เรียกว่า “จิ้มก้อง”
การค้าขายกับจีนสร้างความมั่งคั่งให้กรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าต่าง ๆ รอบอ่าวไทยมาตลอดเวลายาวนานหลายร้อยปี มีชาวจีนเข้ามาตั้งหลักปักฐาน สร้างศาลเจ้า บ้านเรือน ตลาด ร้านค้า ประกอบอาชีพแรงงาน ช่างฝีมือ เกษตรกร พ่อค้า และได้เป็นถึงขุนนาง ซึ่งชาวจีนไม่อยู่ในระบบไพร่เหมือนชาวสยาม ลาว มอญ
ความเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อการค้ากับจีนยิ่งกลายเป็นรายได้หลักของรัฐไทย พ่อค้าจีนหรือเจ้าสัวมีความสำคัญถึงขั้นได้เป็นเจ้าเมืองและเจ้ากรม ขณะที่แผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ชิงกลับประสบภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง เกิดสงครามภายในและสงครามภายนอกกับชาติตะวันตก ชาวจีนยิ่งอพยพเข้ามาสยามจำนวนมหาศาล พร้อมกับความวุ่นวายที่ค่อย ๆ ก่อตัวรุนแรงขึ้นจากกลุ่มอิทธิพลและการขัดผลประโยชน์กันเองของชาวจีนโพ้นทะเล ทับซ้อนด้วยการแตกแยกทางความคิดในการสนับสนุนพรรคต่าง ๆ ในเมืองจีนเพื่อรวมชาติและสถาปนาจีนใหม่ รัฐสยามเองก็เผชิญกับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกทำให้ต้องเปิดประเทศ รับการค้าเสรี ปรับปรุงการปกครองให้รวมศูนย์อำนาจ ลดอิทธิพลของชาวจีน ซึ่งถูกเรียกว่า “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” พยายามสร้างสำนึกชาตินิยม ความเป็นชาติและพรมแดนประเทศตามแบบสากล จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี ๒๔๗๕
ความวุ่นวายยังไม่จบสิ้น จีนถูกญี่ปุ่นรุกราน ขณะที่ไทยถูกญี่ปุ่นบังคับเป็นพันธมิตรในสงครามมหาเอเชียบูรพา หลังสงครามสิ้นสุดไม่นานพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะในการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ส่วนรัฐบาลไทยมีนโยบายชาตินิยม ออกกฎหมายหลายอย่างมาควบคุมชาวจีนโพ้นทะเล เดินแนวทางฝ่ายเสรีนิยมเพื่อพัฒนาประเทศตามอย่างชาติตะวันตกและร่วมต่อต้าน “ภัยคอมมิวนิสต์”
๑
กงสี
公
司
กงแปลว่าส่วนรวม สีหรือซือแปลว่าควบคุม/จัดการ คำว่ากงสีหรือกงซือจึงหมายถึงองค์กร บริษัท แต่ยังมีความหมายถึงธุรกิจครอบครัวแบบจีน
หัวหน้าตระกูลคือหัวหน้ากงสี เริ่มต้นธุรกิจจากรุ่นพ่อที่มาจากเมืองจีน สืบทอดให้ลูกชายคนโตเป็นรุ่นที่ ๒ สมาชิกในตระกูลต้องช่วยกันทำงานหรือหาเงินเข้ากงสี รายได้ของกงสีจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตของครอบครัวและลูกหลาน เช่น ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคนภายนอกที่เชื่อใจให้เข้ามาทำงานในกงสีด้วย จนมีสำนวนว่า “กินเงินกงสี”
การขยายกิจการมักให้ลูกชายเป็นหลัก เพราะลูกสาวต้องแต่งออกไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายสามี การมีลูกจำนวนมากจึงจำเป็น ตามประวัตินายเตียง แซ่เจ็ง ต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ ชาวจีนไหหลำผู้ก่อตั้งห้างเซ็นทรัล มีภรรยา ๓ คน ลูกชาย ๑๔ คน ลูกสาว ๑๒ คน ถึงปัจจุบันสืบกิจการมา ๔ รุ่น
หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ระบบกงสีต้องปรับตัวตามระบบธุรกิจสมัยใหม่เพื่อความอยู่รอด
ปี ๒๕๖๑ ละครโทรทัศน์เรื่อง เลือดข้นคนจาง สร้างปรากฏการณ์ #ใครฆ่าประเสริฐ เนื้อเรื่องผูกปมจากขนบธรรมเนียมในกงสีที่ชายเป็นใหญ่
๒
กวนอิม
观
音
เจ้าแม่กวนอิม
วัดจีนประชาสโมสร-เล่งฮกยี่
ฉะเชิงเทรา
เมื่อคติเรื่องพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เทพผู้ค้ำจุนพุทธศาสนาตามลัทธิมหายาน เผยแผ่เข้าสู่เมืองจีน ถูกนำไปผสมผสานกับตำนานจีนท้องถิ่น กลายเพศเป็นเทวนารี รู้จักกันในนาม “เจ้าแม่กวนอิม” สัญลักษณ์แห่งความเมตตา
ต่อมาคนจีนอพยพสู่สยามจึงนำคติความเชื่อนี้มาเผยแพร่ต่อ เราจึงพบรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิมทั้งในศาลเจ้าจีน บ้านเรือน ร้านค้า รวมถึงตามวัดพุทธในสายเถรวาทอย่างไทย
รูปปั้นรูปเขียนเจ้าแม่กวนอิมที่คุ้นตากันดีมักเป็นภาพสตรีไว้ผมมวยสูง ด้านหน้ามวยผมประดิษฐานพระพุทธเจ้าอมิตาภะ ผู้สถิต ณ สวรรค์สุขาวดี บางองค์อาจถือขวดน้ำทิพย์และกิ่งหลิว บางองค์แสดงธรรมจักรมุทรา (จีบนิ้วเป็นวง หมายถึงการแสดงธรรม) รวมทั้งยังมีปางที่ทรงมังกรเป็นเทพพาหนะ และปางเมื่อแสดงอิทธิฤทธิ์เป็น “เจ้าแม่กวนอิมพันกร” ก็มี
ประติมากรรมเจ้าแม่กวนอิมเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทยประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นศิลปะสมัยราชวงศ์สุย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือกว่า ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว