อาม่า หม่าม้า และผม
บทสนทนาว่าด้วยความเป็นจีน
ที่หล่นหาย
เรื่อง : ชนกร
ภาพประกอบ : swys.wy
“ไม่แน่ใจว่าควรเรียกตัวเองว่าเป็นลูกหลานบ้านคนจีนไหม” คือความรู้สึกตลอดชีวิต ๒๘ ปีของผมที่หวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อเหลือบเห็นศาลเจ้าจีนผ่านกระจกรถไฟทางไกลสายกรุงเทพอภิวัฒน์-หนองคาย ขณะเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว
ผมเติบโตมาในครอบครัวเดี่ยวที่ไม่ได้เคร่งประเพณีวัฒนธรรมนัก พ่อเป็นคนไทยอีสานแท้ ๆ ส่วนแม่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ความทรงจำไกลสุดที่ผมจำได้คือเราอยู่กันสี่คน พ่อ แม่ พี่ แล้วก็ผม ในบ้านพักราชการหลังเล็กที่ต่างอำเภอ ซึ่งความทรงจำวัยกระเตาะของผมไม่มีญาติคนไหนอยู่เลย
ภาพจำว่าครอบครัวผมเริ่มขยายใหญ่เมื่อผมโตขึ้นมาอีกนิดตอนพ่อแม่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองและอยู่ใกล้ครอบครัวเดิมของพวกเขา ผมได้รู้จักอากง อาม่า อาอี๊ อากู๋ และอีกหลายอา...ซึ่งเป็นญาติพี่น้องของแม่
ผมเคยได้เงินแต๊ะเอียจากญาติ ๆ ในวันตรุษจีนบ้าง และเคยไปศาลเจ้าจีนกับแม่อยู่สามสี่หน แต่บ้านเราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคนจีนมากขนาดนั้น ผมไม่เคยไปร่วมตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษในวันสารทจีนไม่ได้อะไรกับเทศกาลกินเจ ปีชง หรือวันมงคลทั้งหลาย แม้แต่วันเช็งเม้งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้ไปทำความสะอาดสุสานเหมือนลูกหลานจีนบ้านอื่น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสุสานของตระกูลเราอยู่ที่ไหน
ผมไม่รู้ว่าทำไมเราถึงไม่ไปงานรวมญาติ ความเป็นจีนของบ้านเราหล่นหายไปตอนไหน ก่อนผมเกิดครอบครัวเราเป็นอย่างไร จะให้บอกว่าเป็นลูกหลานจีนก็พูดได้ไม่เต็มปาก จะปฏิเสธรากเหง้าของตัวเองไปเฉย ๆ ก็ไม่ใช่ ที่ผมรู้มีเพียงความประดักประเดิดในใจ
“กลับบ้านครั้งนี้ถ้าได้คุยกันน่าจะดี” ผมครุ่นคิด โดยไม่นึกเลยว่าบทสนทนาที่จะเกิดขึ้นเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า “ครอบครัว” ของผมไปอย่างไร
เกิดที่นี่
และไม่เคยไปไหน
“กลับมาแล้วเหรอ” หญิงชราท่าทางใจดีเอ่ยทักทันทีที่ผมก้าวเท้าเข้าบ้าน
“กลับมาแล้วครับอาม่า” ผมทักทายเหมือนทุกครั้ง
ตรงหน้าผมคือ “อาม่า” แม่แท้ ๆ ของแม่ผมซึ่งย้ายมาอยู่กับแม่หลังผมไปเรียนมหาวิทยาลัย แม้จะอายุเกิน ๘๐ แต่ท่านจะตื่นแต่เช้ามาซักผ้าเองทุกวัน คงเป็นความเคยชินของท่านที่ต้องหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อผมเดินทางกลับถึงบ้านตอนเช้า ท่านจึงเป็นคนแรกที่ทักทายผม
“เล่าเรื่องสมัยอาม่าเด็ก ๆ ให้ฟังหน่อยสิ” บ่ายวันนั้นผมชวนอาม่าคุย
“เรื่องอะไรล่ะ” อาม่าทำหน้างง ๆ พร้อมวางผ้าที่กำลังเย็บอยู่
“เรื่องของบ้านเรานี่แหละอาม่า บ้านเรามาจากไหน มาอยู่เมืองไทยได้ไง”
อาม่านิ่งไปพักหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่าท่านกำลังพยายามรำลึกความทรงจำ หรือประหลาดใจที่ผมถามเรื่องพวกนี้ครั้งแรกกันแน่
“อาม่าจะเล่าเท่าที่รู้นะ ถ้าย้อนไปก็ร้อยกว่าปีแล้ว เดิมครอบครัวของอาม่าเป็นชาวนาอยู่ที่เมืองจีน พ่อกับแม่ของอาม่าไม่อยากเป็นชาวนา เขาว่ามันลำบาก พอแต่งงานก็ชวนกันย้ายมาอยู่เมืองไทย เข้ามาทางลาวแล้วข้ามฝั่งที่เวียงจันทน์”