ช็อกโกแลต โกโก้ไทย ไปไกลแล้วคราฟต์ “อนึ่ง แขกมัวร์ในประเทศสยามดื่มกาแฟ ซึ่งมาจากเมืองอาหรับ และชาวปอรตุเกศนั้นดื่มโกโก้ เมื่อมีส่งมาจากมนิลาเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งนำมาจากอินเดียภาคตะวันออกในเขตคุ้มครองของสเปญอีกทอดหนึ่ง” ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปี 2230 บันทึกไว้ในหนังสือจดหมายเหตุของเขา (สำนวนแปลภาษาไทยโดย สันต์ ท. โกมลบุตร) นั่นหมายความว่าอย่างน้อยที่สุดมีโกโก้ให้ดื่มกันในเมืองไทยมากว่า 300 ปีแล้ว ! โกโก้คือผลผลิตจากต้นคาเคา (cacao) ต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน แม้จะเคยมีความพยายามพัฒนาให้คาเคาเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยมาหลายครั้งหลายหน แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จนัก ทว่าดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น ความนิยมในช็อกโกแลตบาร์จากผู้ผลิตรายย่อย (specialty and artisanal chocolates) ที่เน้นการผลิตจำนวนจำกัด พร้อมกลิ่นรส “taste note” เฉพาะตัว และรสชาติแปลกใหม่ที่มีความเป็นท้องถิ่น ขยายตัวจากโลกตะวันตกมาเบ่งบานทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเมืองไทย สารคดี ฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปย้อนดูตั้งแต่ความเป็นมาในประวัติศาสตร์ของ “โกโก้” และ “ช็อกโกแลต” ก่อนพาตะลุยเข้าสวนโกโก้ แวะเวียนทำความรู้จักกับ “คนโก้” บางแบรนด์บางรายเพื่อให้เห็นทั้ง “ที่มา” และ “ทางไป” แห่งรสชาติหอมหวานชนิดนี้ในเมืองไทย