ในสังคมยุคก่อนอุตสาหกรรม อาหารไม่ใช่สิ่งที่สามารถซื้อหามาได้ง่าย ๆ รวมถึงไม่ได้มีให้กินตลอดเวลา ทุกอย่างล้วนมี “หน้า” ของมันในรอบปี ซึ่งหากผ่านเลยไปแล้ว คือหมดสิ้น เป็นอันว่าอดกิน วิถีปฏิบัติที่มนุษย์ทุกหนทุกแห่งต้องทำเหมือน ๆ กัน คือหาวิธีเก็บงำ “ของสด” ตามฤดูกาลไว้ให้กินได้นาน ๆ ในสังคมเลี้ยงสัตว์ที่มีน้ำนม ก็อาจเก็บในรูปเนย เนยแข็ง ถ้ามีไข่ ก็ทำไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ปลูกผักได้ ก็ตากแห้ง หมักดอง ทำผักแห้ง ผักดอง หรือกิมจิ มีถั่วเหลือง ก็ทำถั่วเน่า ทำเต้าหู้ หมักซีอิ๊วกันไป เป็นต้น สารคดี ฉบับ “ไทยเจริญรส” ขอเสนอเครื่องชูรสอาหารไทยแบบดั้งเดิมหลายภาค หลากชาติพันธุ์ ทั้งน้ำปู๋ลำปาง ปูดองแปดริ้ว บูดูนราธิวาส ปลาร้าแม่น้ำสงคราม น้ำปลาบ้านกง ซีอิ๊วเมืองตรัง ถั่วเน่าไทใหญ่ และกะปิอู่ทอง “ศิลปะการถนอมอาหาร” เหล่านี้ เกิดขึ้นและสืบทอดมาด้วยวัตถุดิบจากท้องถิ่น ผนวกรวมกับภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาแต่ครั้งอดีต ประสานกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตามยุคสมัยที่มีเรื่อยมา หากแต่เมื่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติเปลี่ยนแปลง คนเปลี่ยนรุ่นไป รวมถึงความรับรู้ว่าเรื่องของเค็มกลายเป็นสิ่งพึงงดเว้น แล้ว “ของกินจากบ้าน” เหล่านี้ จะยังหลงเหลือ “ที่ทาง” ในสังคมสมัยใหม่หรือไม่ หรือจะยัง “ไปต่อ” ได้อีกนานเพียงใด