ใต้มหาสมุทรนิ่งงัน มีคลื่นน้ำเคลื่อนไหว ใต้ธารงานปฏิรูปการศึกษาไทย มีกระแสคนหยัดยืน ก่อนเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2565 ไม่กี่วัน “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ที่ภาคการศึกษาเตรียมการกันมานานเพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนของเด็กไทย ถูกสั่งเบรกกะทันหันด้วยเหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มภาระแก่ครู ผู้ปกครองและนักเรียน ย้อนไป 20 กว่าปีก่อน ขณะที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางไปให้ความสำคัญกับทักษะติดตัวหรือ “สมรรถนะ” ประเทศไทยก็เริ่มปฏิรูปการศึกษาโดยประกาศแนวคิดยึดหลัก “ผู้เรียนมีความ สำคัญที่สุด” แต่ความเป็นจริงในภาคปฏิบัติกลับตรงกันข้าม เพราะหลักสูตรและการประเมินผลยังคงยึดการวัดค่านักเรียนจากการจดจำความรู้ในเนื้อหาสาระ หลักสูตรฐานสมรรถนะคืออะไร ? การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้การเรียนการสอนเป็นภาระจริงหรือไม่ ภายใต้การบริหารจัดการการศึกษาของระบบข้าราชการที่ใหญ่โตเทอะทะและปรับตัวช้า ยังมีประกายหวังจากผู้ไม่ยอมจำนน ซึ่งพวกเขามักมีชุดคำถามคล้ายกันว่าโรงเรียนของเรากำลังพาเด็กไปที่ไหน ? ตอนนี้เด็กอยู่ตรงไหน พวกเขาจะไปยังไงต่อ ? จนเมื่อมีใครตัดสินใจเริ่มการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ จากตัวเองขยายผลสู่วงกว้าง จึงเกิดเป็นคำถามต่อว่าแท้จริงแล้วงานปฏิรูปการศึกษานั้นเริ่มจากที่ใด ? “กระทรวง” “หลักสูตร” “โรงเรียน” หรือ “ตัวเอง”?