บรรดาการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ ยอมรับกันว่าหนังตะลุงและโนรายืนเด่น แต่โนรามีสิ่งนอกเหนือจากการขับร้องและเล่นเป็นเรื่องราวอย่างหนังตะลุง คือมีการร่ายรำ-ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อ ต้องบวงสรวงเทวดาอารักษ์และผีบรรพบุรุษซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญของครอบครัว และผู้จะนำพิธีกรรมต่าง ๆ ต้องมีศาสตร์อาคม “โนรา” แต่เดิมจึงมาพร้อม “โรงครู” ที่เปี่ยมด้วยรายละเอียดจับต้องไม่ได้ วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” ให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ลำดับที่ 3 ของไทยต่อจาก “โขน” และ “นวดไทย” นอกเหนือจากโขน นวด และโนรา มรดกทางวัฒนธรรมฯ ของไทยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโกยังมีเทศกาลสงกรานต์และอาหารต้มยำกุ้ง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติคืออะไร ? คุณค่าและความสำคัญของ “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” เหล่านี้อยู่ตรงไหน ?