“สุนทรภู่” เป็นชื่อที่ทุกคนรู้จัก จากในตำราเรียน จากงาน “๒๖ มิถุนาฯ” ที่โรงเรียน หรือจากผลงานที่มีอยู่นับ ๖ หมื่นคำกลอน โดยมี พระอภัยมณี เป็นเรื่องเอก เป็นนิทานที่อาจเทียบได้กับนิยายในยุคนี้ และชีวิตเขาก็ถูกเล่าลือต่อกันมาราวกับเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง ในแง่ที่ว่าเป็นกวีราชสำนักที่เจ้าชู้ ขี้เมา มีช่วงชีวิตยากไร้ต้องเขียนกลอนขายเลี้ยงชีพ แต่หากพิจารณาจากบริบทข้อมูลอย่างรอบด้าน จะเห็นว่าสุนทรภู่อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของสังคมกรุงเทพฯ ยุคต้นรัตน-โกสินทร์ เป็นข้าราชการในกรมพระอาลักษณ์ นักปราชญ์ที่รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ เป็นครูสอนหนังสือของเจ้านายเยาว์วัยในวัง เป็นยอดกวีเอกที่ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาด้านกาพย์กลอนในราชสำนัก แม้ตกอับอย่างไรก็คงไม่ถึงกับต้องแต่งกลอนขายกิน ยังไม่นับว่ายุคนั้นคนไทยอ่านออกเขียนได้กันน้อยนัก ผลงานของสุนทรภู่อยู่ยงข้ามกาลเวลามาได้ยาวนานด้วยเนื้อหาที่ล้ำยุคสมัย เล่าผ่านรูปแบบกลอนแปดอันไพเราะด้วยจังหวะเสียงสูงต่ำและคำสัมผัส จนถึงกับยกย่องกันว่าเป็นกลอนแปดแบบใหม่ที่สุนทรภู่เป็นผู้สร้างขึ้น สารคดี “กลอน/แปด/เพลงยาว/ชีวิตสุนทรภู่” ร่วมรำลึก ๒๖ มิถุนาฯ วันมหากวีแห่งชนชาติไทย ด้วยการรู้จักสุนทรภู่ในแง่มุมใหม่ตามที่มีข้อมูลหลักฐานรองรับ คำถามสำคัญอีกข้อคือ โลกยุค ร. ๒ ที่มหากวีมีชีวิตอยู่เป็นอย่างไร ? จากข้อมูลประวัติศาสตร์ล่าสุด โลกของสุนทรภู่นั้นมีพลวัตมากกว่าที่คนรุ่นเราคาดคิด “แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าฯ” จะพาท่านผู้อ่านไปสำรวจแผ่นดิน ร. ๒ (ที่เราไม่รู้จัก) แบบ “เล่าใหม่” กันอีกครั้ง