นานแล้วที่คนไทยรู้จัก “กะเหรี่ยง” แต่ยังน้อยนักที่รู้จัก “รัฐกะเหรี่ยง” ต่อเมื่อเกิดเหตุสู้รบระหว่างพม่าแล้วมีพลเมืองจากแผ่นดินนี้หนีตาย คนไทยจึงมักมีภาพจำถึงพวกเขาแง่ “ผู้อพยพลี้ภัยสงคราม” หลบหนีมาโดยเส้นทางธรรมชาติ ครั้นสงครามสงบบางคนก็อาศัย-ทำกินต่อในผืนป่าที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ เมื่อมีข่าวลบเกี่ยวกับผืนป่าคราใดพวกเขาจึงตกเป็นผู้ร้ายในฐานะ “คนอยู่กับป่า” แม้พยายามอธิบายความเป็นไปของวิถีวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเป็นผู้เข้าใจธรรมชาติ แต่ดูเหมือนยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับความเข้าใจ ทำความรู้จักชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตั้งแต่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาจนถึงการต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยง ในเรื่อง ก่อทูเล พงศาวดารฉบับกะเหรี่ยง กับบทสัมภาษณ์ KAREN Talk : โผล่ง ปกากะญอ เราคือคน กับ วุฒิ บุญเลิศ ย้อนรอยเส้นทางอพยพของชาวกะเหรี่ยงผ่าน “สาละวิน” โดยความช่วยเหลือของสองพี่น้องหนุ่ม-สาวกะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งได้เผยเรื่องราวที่ยังไม่เคยมีการบันทึกมาก่อนในสารคดีเรื่อง แม่สะเรียง-เดะปูโหนะ ลมหายใจกะเหรี่ยงสาละวิน พร้อมกับเรื่องราวน่าสะเทือนใจของความพยายามสร้างพื้นที่สันติภาพในสารคดีเรื่อง อุทยานสันติภาพสาละวิน : ความจริงและความฝัน ในท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างทหารเมียนมาและกองทัพกะเหรี่ยงล่าสุด และปัญหาความขัดแย้งซึ่งกลายเป็นเรื่องร้อนแรงของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับคำถามสำคัญ คนอยู่กับป่าได้ไหมในสารคดีเรื่อง “คน” อยู่กับ “ป่า” ? การจากลาและคืนถิ่นของกะเหรี่ยงบางกลอย