Image

ตำราปฏิทินน่ำเอี๊ยงตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน ต้องเปิดจากหลังมาหน้า อ่านจากขวามาซ้าย ตามอย่างตำราจีน เป็นต้นทางสู่ปฏิทินปึกแดงที่หลายคนรู้จัก

ปฏิทินจีน ปฏิสัมพันธ์ไทย
จากโหราศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่
สู่ปฏิทินไทยในโลกดิจิทัล

เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา
ภาพ :  ประเวช ตันตราภิรมย์

สองตามองตามสองข้างถนน สองเท้าเดินบนบาทวิถี ไม่ว่าจะบ้านเล็กหรือใหญ่ ธุรกิจ กิจการ ร้านค้าใกล้ไกล แม้แต่ในวัดวาอาราม โรงเรียน และศาลเจ้า ภายใต้ร่มฟ้าเดียวกันในสำเพ็ง-เยาวราชย่านหลักที่ชาวไทยเชื้อสายจีนลูกหลานจากแผ่นดินมังกรดำรงชีวิตสืบต่อวิถีจากบรรพบุรุษมานับร้อยปี ล้วนมีสิ่งที่เรียกว่าปฏิทินไทย-จีน

วางบนโต๊ะทำงาน แขวนผนังบ้านไว้ดูในครอบครัว หรือพกไว้ใกล้ตัว บ้างถูกฉีกเมื่อวันเดือนเลื่อนผ่าน เสมือนปฏิทินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ตัวเลขที่เรียงเป็นแถวต่อกันตามแนวในช่องสี่เหลี่ยม เป็นตัวกำกับบอกวันเวลาที่ผันผ่าน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของปฏิทินทั่วไป แต่สำหรับปฏิทินจีนมีมากกว่านั้น ด้วยยังบอกดวงชะตา ดูฤกษ์มงคล ตลอดจนวันสำคัญ เชื่อมวิถีให้ตรงกันทั้งสองแผ่นดิน สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมายาวนาน


หน้าแรกของปฏิทิน

แม้ชาวบาบิโลนจะได้รับการขนานนามว่าเป็นอารยชน กลุ่มแรกผู้ต้นคิดปฏิทิน แต่อีกซีกทางทิศตะวันออกของโลกย้อนไปกว่า ๔,๐๐๐ ปีในสมัยราชวงศ์เซี่ย ต้นราชวงศ์ของมหาอาณาจักรจีน มีหลักฐานประดิษฐ์ปฏิทินใช้ครั้งแรกในอารยธรรมมังกร

พัฒนาการของปฏิทินผันเปลี่ยน เกิดปฏิทินอีกหลายชนิดที่เคียงคู่วิถีชีวิตในลุ่มอารยธรรมแห่งนี้ เช่น ปฏิทินซาง ปฏิทินโจว ซึ่งเรียกตามนามราชวงศ์ในช่วงต้นของจีน

นอกจากนี้ยังมีปฏิทินที่ใช้ตามแคว้นน้อยใหญ่สมัยที่แผ่นดินจีนยังไม่รวมเป็นหนึ่ง ทำให้วันเวลาและฤดูกาลแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ทั้งหมดใช้การโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่สัมพันธ์กับโลกในการคำนวณวัน เวลา และฤดูกาล

กระทั่งจิ๋นซีฮ่องเต้รวบอำนาจแคว้นต่าง ๆ จากดินแดนห่างไกลศูนย์กลางเป็นหนึ่ง สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของแผ่นดินมังกร จึงประกาศใช้ปฏิทินจวนซีว์เป็นหลักแต่นั้นมา โดยชื่อเรียกปฏิทินเป็นนามของจักรพรรดิจีนในตำนาน ผู้ที่เชื่อว่าค้นคิดปฏิทินจีนให้เป็นระบบแต่ครั้งบรรพกาล

ครั้นถึงต้นราชวงศ์ฮั่น ปี ๔๓๙ พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงประกาศใช้ปฏิทินไท่ชู (太初历) ให้อยู่คู่อาณาจักร

ปฏิทินไท่ชูมีข้อดีที่ความแม่นยำ ทำให้ระบบ ๑๒ เดือนตามการเคลื่อนของดวงจันทร์ใน ๑ ปี (เรียกว่าระบบจันทรคติ) สอดคล้องและไม่คลาดเคลื่อนนักกับระบบปฏิทินสุริยคติที่อิงกับดวงอาทิตย์ ซึ่งมีหลักวิธีคิดที่ ๑ ปีของจีนมี ๔ ฤดูกาล แต่ละฤดูแบ่งย่อยได้ ๖ กาล รวม ๒๔ อุตุปักษ์ เกิดเป็นวันหลัก ๆ ตลอดฤดูกาล

ก่อกำเนิดเป็นเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ ของจีน อย่างวันตรุษจีน ที่เลื่อนไปในแต่ละปีตามปฏิทินจันทรคติ ส่วนวันเช็งเม้ง เทศกาลตังโจ่ยหรือไหว้ขนมบัวลอย ยึดตามปฏิทินสุริยคติที่อิงตามฤดูกาล ทั้งสองอย่างกลายเป็นแม่แบบของปฏิทินจีนยุคหลัง ที่พัฒนาและมั่นคงกว่า ๑,๐๐๐ ปี  ปฏิทินจีนจึงมีสองระบบเรียกว่าระบบสุริย-จันทรคติ

ปฏิทินไท่ชูเหมาะกับชีวิตคนในอดีตกาลที่เป็นสังคมเกษตรกรรม จึงใช้สืบต่อมาและพัฒนาเป็นปฏิทินจีนในปัจจุบัน เรียกว่าหนงลี่ (农历)  มีความหมายว่าปฏิทิน
กสิกรรม จดจำฤดูกาลตามคำกลอน “วสันต์หว่านไถคิมหันต์เติบใหญ่ สารทไซร้เก็บเกี่ยว เหมันต์เก็บเข้ายุ้งฉาง”

“คนมักมองว่าปฏิทินก็แค่ใช้ดูวันเวลา แต่จริงๆ แล้ว ข้อมูลในปฏิทินนั้นมีคุณค่ามาก...แผนผังชีวิตคุณอยู่ในกระดาษแผ่นนี้”

ย้อนกลับไปไม่ไกลเพียง ๑๐๐ กว่าปี ช่วงที่จีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐในปี ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) เกิดการวิวัฒน์ปฏิทินตามวัฒนธรรมจากแผ่นดินตะวันตกโดยรัฐบาลจีนยกให้ปฏิทินเกรกอเรียนเป็นแม่แบบหลัก

นับวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันปีใหม่ตามสากล แทนระบบปฏิทินเก่าที่ถือวันตรุษจีนเป็นวันเปลี่ยนปี และกำหนดให้ใช้ระบบ ๑ ปีมี ๑๒ เดือน, ๑ เดือนมี ๒๘-๓๑ วัน รวมกันได้ ๓๖๕-๓๖๖ วัน เรียกกันในชาติว่าปฏิทินใหม่

แต่นั้นมาปฏิทินจีนจึงมีระบบปฏิทินจากสองซีกโลก คือ ปฏิทินหนงลี่ผสมปฏิทินตามวิถีแบบตะวันตก โดยนำระบบของปฏิทินเกรกอเรียนและสุริยจันทรคติรวมกันในชุดเดียว จนเห็นหน้าตาของปฏิทินเป็นตัวเลขอารบิกกำกับวันสำคัญและเทศกาลของจีนในแต่ละเดือนที่บางครั้งไม่คงที่ แต่มีฤดูกาลทั้ง ๒๔ ตามปฏิทินสุริยคติที่กำหนดวันแน่นอน

เราคุ้นกับปฏิทินจีนยุคหลังนี้ เพราะมันเคียงคู่กับวิถีวัฒนธรรมของลูกหลานมังกรที่เดินทางไปลงหลักปักฐานในแผ่นดินใหม่ และใช้ปฏิทินเป็นตัวเชื่อมเวลาให้ชาวจีนที่อยู่ไกลรู้กำหนดของวันสำคัญ เทศกาล และฤดูกาลตรงตามประเทศแม่

ปฏิทินใหม่จึงผลิตเผยแพร่ในหลายดินแดน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีลูกหลานมังกรอยู่ราว ๑๐ ล้านคน

ปฏิทินจีนในไทยที่หลายคนรู้จักหนึ่งในนั้นคือน่ำเอี๊ยง แต่ถ้าย้อนถามคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นก่อน ปฏิทินจูป๋อคืออีกแหล่งที่ผลิตปฏิทินจีนเช่นกัน

Image


ปฏิทิน ปฏิไทย

ภาพวาดชายชราศีรษะโล้น มีหนวดเครายาวสีขาวสะอาด มือขวาถือไม้เท้าที่มีน้ำเต้า สัญลักษณ์มงคลของจีนแขวนอยู่ เป็นสิ่งบ่งบอกตัวตนของเทพเจ้าซิ่ว (寿) ตัวแทนความอายุยืนและสุขภาพดี ยืนเคียงเด็กห้าคนในกิริยาชื่นมื่นที่กำลังยืนแบกลูกท้อ ในมือเด็กคนหนึ่งถือคทายู่อี่ สัญลักษณ์แห่งความมงคล ข้างบนมีค้างคาวสีแดงทั้งห้า เรียกว่าอู่ฝู (五福) หมายถึงพรห้าประการ ฉากหลังเป็นภาพภูเขาหนานซาน ภูเขาในยุคบรรพกาลของจีน

Image

0