อ่าวซัวเถา
เยือนถิ่นซัวเถา
ชาวแต้จิ๋ว
เรื่องและภาพ : ปริวัฒน์ จันทร
หากได้ไปเยือนเมืองซัวเถา ถิ่นฐานของชาวแต้จิ๋ว หรือทุกวันนี้เรียกรวมกันว่าเฉาซ่าน (潮汕 - เตี่ยซัว ในสำเนียงแต้จิ๋ว) อันเป็นถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยมากที่สุดในบรรดาชาวจีนโพ้นทะเลทุกกลุ่มภาษา และมีมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันมากมาย ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาหารการกิน รวมถึงเรื่องราวบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องในมิติด้านต่าง ๆ กับสังคมไทยมายาวนาน
ผู้ศรัทธาไหว้เทพเจ้าทีกง
ที่ศาลเจ้าตั่วเหล่าเอี้ย เหี่ยงบู่ซัว
ภายในห้องนิทรรศการหมายเลข ๓ ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาวจีนแต้จิ๋วโพ้นทะเล (潮汕华侨历史博物馆三 - Chaoshan Overseas Chinese History Museum) ริมทะเลอ่าวซัวเถา จัดแสดงเป็นหอเกียรติยศของชาวแต้จิ๋วโพ้นทะเล บนผนังประดับรูปภาพและเรื่องราวโดยสังเขปของบุคคลนามอุโฆษและได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติจากพิพิธภัณฑ์ของถิ่นฐานบรรพบุรุษ
นับจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือเจิ้งซิ่น (郑信), ตันฉื่อฮ้วง (陈慈黉 - เฉินฉือหง) ต้นตระกูลหวั่งหลี, พระอนุวัฒน์ราชนิยม หรือ แต่ตี้ยง (郑智勇 - เจิ้งจื้อยง หรือ ยี่กอฮง) ต้นตระกูลเตชะวณิช, เหียกวงเอี่ยม (蚁光炎 - อี่กวงเหยียน) ต้นตระกูลเอี่ยมสุรีย์, หมอยา
ตั่งหมุยตึ๊ง (陈美堂 - เฉินเหม่ยถาง) ห้างขายยาไต้อันตึ๊ง, แต่จือปิง (郑子彬 - เจิ้งจื่อปิน) ต้นตระกูลเตชะไพบูลย์, เจี่ยเอ็กชอ (谢易初 - เชี่ยอี้ชู) ต้นตระกูลเจียรวนนท์, อื้อจือเหลียง (余子亮 - อวิ๋จื่อเลี่ยง) ต้นตระกูลเอื้อ-วัฒนสกุล, ชิน โสภณพนิช (陈弼臣) ต้นตระกูลโสภณ-พนิช, ปรีชา พิสิฐเกษม (谢慧如) เป็นต้น
ดวงหน้าของบุคคลที่เราคุ้นเคยเหล่านี้ล้วนมีบทบาทต่อสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหนึ่งเดียวของวีรกษัตริย์มหาราชไทยผู้มีสุสานและหอบูชาบรรพชนอยู่ดินแดนโพ้นทะเล หนึ่งเดียวของลูกชาวจีนแต้จิ๋วผู้ได้เป็นวีรกษัตริย์ในประเทศทางทะเลใต้
ดวงหน้าของบุคคลที่เราคุ้นเคยเหล่านี้ล้วนมีบทบาทต่อสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
สุสานและศาลบรรพชนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (แต่อ๊วง)
ณ หมู่บ้านฮวาฟู่ (华富村 - ฮั่วปู่) ตำบลซ่างฮวา (上华镇 - เซี่ยงฮั้ว) เขตเฉิงไห่ (澄海 - เถ่งไฮ่) เมืองซ่านโถว (汕头 - ซัวเถา) ทางตอนใต้ของมณฑลกว่างตง (广东 - กวางตุ้ง) เป็นที่ตั้งของสุสานแต่อ๊วง หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (๑๗ เมษายน ๒๒๗๗-๗ เมษายน
๒๓๒๕) ราชสำนักจีนเรียกพระองค์ว่าเจิ้งเจา (郑昭 - แต่เจียว) หรือกษัตริย์แซ่เจิ้ง มีพระนามเดิมว่า เจิ้งซิ่น (郑信 - แต่สิ่ง)
สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเขตเฉิงไห่ บ้านเกิดของพระราชบิดาแห่งนี้ แม้เป็นสุสานขนาดเล็ก หากแต่ยิ่งใหญ่ในใจปวงชนชาวไทยเสมอมา ตามแผ่นศิลาจารึกหน้าสุสานระบุว่า “เสียนหลอเจิ้งฮวางต๋าซิ่นต้าตี้อีก่วนมู่ (暹罗郑皇达信大帝衣冠墓)” หรือสุสานฝังฉลองพระองค์และพระมาลาของเจิ้งฮวาง กษัตริย์แห่งเสียนหลอผู้ยิ่งใหญ่
แผ่นป้ายศิลาจารึกหน้าสุสานของพระองค์ระบุปีสร้างในรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ค.ศ. ๑๗๘๒ (ตรงกับปี ๒๓๒๕ ปีเดียวกับที่พระองค์สวรรคต) ได้บูรณะขึ้นใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๘๕ (ปี ๒๕๒๘) เล่าสืบต่อกันมาว่า ภายหลังจากพระองค์สวรรคต ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามาสองชุด ชุดหนึ่งเป็นไทย ชุดหนึ่งเป็นจีน มอบให้ญาติที่บ้านเกิดของพระราชบิดา-เจิ้งยง (郑镛 - แต่ยง) จากนั้นพระญาติจึงบรรจุฉลองพระองค์และพระมาลาไว้ในสุสานแห่งนี้
คุณแต้สุ่ยเม้ง อนุชนรุ่นที่ ๑๑ สายพี่ชายพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เจิ้งยง พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชาวหมู่บ้านฮวาฟู่ เขตเฉิงไห่ ผู้หนีความยากลำบากและเหตุทุพภิกขภัยบ่อยครั้งที่บ้านเกิดเมืองนอนเช่นเดียวกับชาวเฉิงไห่อีกจำนวนมาก ลงเรือสำเภาหัวแดง (红头船 - อั่งเถ่าจุ๊ง) รอนแรมกลางท้องทะเลกว้างมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยามประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อาศัยอยู่แถบคลองสวนพลู นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ดังนั้นในช่วงทำสงครามกอบกู้เอกราชของไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีทหารชาวจีนแต้จิ๋วมาร่วมรบด้วย ช่วยกันตีแหกทัพพม่ามุ่งไปยังหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกและสามารถกอบกู้เอกราชคืนได้สำเร็จ
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงการอพยพของชาวจีนแต้จิ๋วที่มาหลังสมัยอยุธยาไว้ในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า
“...นับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นต้นมา พวกแต้จิ๋วหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกเว้นภาคใต้ แล้วพวกแต้จิ๋วกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของจีน ในขณะที่พวกฮกเกี้ยนลดฐานะจากกลุ่มใหญ่สุดลงไปเป็นที่ ๔ สัดส่วนของพวกแคะและพวกไหหลำก็เพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย การครอบงำของแต้จิ๋วในจำนวนของจีนอพยพในเมืองไทยก็เป็นมรดกอย่างหนึ่งจากรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่เมื่อในสมัยแรกที่เริ่มจะตั้งตัวนั้น ยังมีปัญหาของพวกจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นฮกเกี้ยน และไม่ได้กลายเป็นกำลังทางการเมืองของพระเจ้ากรุงธนบุรีไปในทันทีทันใด หรืออาจไม่ได้เคยเป็นอย่างแท้จริงตลอดรัชกาลก็เป็นได้
“นอกจากความแตกต่างทางด้านภาษาถิ่นแล้ว พวกแต้จิ๋วที่อพยพมาเมืองไทยยังอาจจะผิดแปลกจากจีนที่มาก่อนหน้านั้นอยู่อีกอย่างหนึ่งด้วย
“พวกจีนอื่นที่เข้ามาก่อนนั้นเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมือง เช่น ลี้ภัยพวกแมนจูออกไปสู่ต่างประเทศ หรือมาด้วยเหตุผลทางการค้า แต่พวกแต้จิ๋วอพยพเข้ามาสู่เมืองไทยเพราะความยากจนข้นแค้นแสนสาหัส บริเวณที่ราบแต้จิ๋วมีประชากรหนาแน่น พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย จนกล่าวกันว่า ‘รายได้จากที่นา แม้จะเป็นปีที่อุดมสมบูรณ์ก็ยังไม่พอบริโภคในสามเดือน’ ต้องอาศัยท้องทะเลช่วย เพราะฉะนั้น ๗๐ เปอร์เซ็นต์จึงเป็นชาวประมง หลังจากที่รัฐบาลราชวงศ์แมนจูอนุญาตให้ออกทะเลเพื่อทำการค้าข้าวได้แล้ว พวกแต้จิ๋วก็อพยพมาทางใต้เพิ่มมากขึ้น แต่มีแต้จิ๋วจำนวนน้อยเท่านั้นที่ออกจากประเทศเพื่อการค้า ส่วนใหญ่เป็นชาวนาล้มละลายและชาวนายากจนไร้อาชีพ
“กลุ่มของจีนที่เป็นพรรคพวกใกล้ชิดของพระเจ้ากรุงธนบุรีมาตั้งแต่ต้น จึงเป็นพวกไม่สู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่าพวกฮกเกี้ยนซึ่งเข้ามาก่อน และอาจมีฐานะเดิมจากบ้านเกิดเมืองนอนสูงกว่าพวกแต้จิ๋วอยู่แล้ว...”
พระป้ายบรรพชนตระกูลแต้และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช