พฤกษศิลป์
ชีวิตใหม่หลังเกษียณ
ของ นาตยา อุดมพัฒน์
พฤกษศิลป์
พฤกษศิลปิน
เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
แฟ้มกระดาษหนีบด้วยคลิปดำตัวใหญ่ มีภาพถ่ายต้นเท้ายายม่อมและข้อมูลทางพฤกษศาสตร์มากมายหลายหน้าบ่งบอกความจริงจังของผู้วาดกับการศึกษาพืชที่เธอตั้งใจถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ
แผ่นบนสุดของแฟ้มเป็นกระดาษไขมีลายเส้นดินสอวาดต้นหนึ่งของพืชชนิดนี้
“เราจะวาดภาพบนกระดาษไขก่อน ปรับแก้ให้เรียบร้อยจนพอใจ แล้วค่อยลอกลายลงบนกระดาษวาดรูปจริง” หญิงสาวผมมีสีดอกเลาแซมอยู่ครึ่งหนึ่งอธิบายขั้นตอนที่เธอใช้วาดภาพพฤกษศิลป์ (botanical art)
เธอหยิบกระดาษแผ่นสีดำมาให้ดู มองภายนอกก็เหมือนกระดาษคาร์บอนที่ใช้ทำสำเนาเอกสาร แต่เธอเฉลยว่านี่ไม่ใช่กระดาษคาร์บอนทั่วไป
“เป็นกระดาษทำสำเนากับเครื่องเทเลกซ์ (telex) เก็บมาตั้งแต่ทำงานเป็นเลขานุการ มันไม่มีผงฟุ้งที่ทำให้กระดาษวาดภาพของเราเลอะ”
ถ้าคุณเกิดไม่ทัน เทเลกซ์คือเครื่องส่งข้อความผ่านสายโทรเลข หน้าตาคล้ายเครื่องพิมพ์ดีดองค์กรต่าง ๆ นิยมใช้ในยุคสื่อสารที่มีแค่โทรศัพท์และโทรเลข ก่อนโลกจะเกิดอินเทอร์เน็ต
อดีตเลขานุการในสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบอกว่า ปรกติกระดาษนี้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่เธอเห็นว่าหลังใช้แล้วสภาพยังใหม่อยู่ จึงเก็บไว้เผื่อใช้ประโยชน์
ผ่านไป ๔๐ ปี ใครจะรู้ว่าวัสดุดำ ๆ ที่ปลดระวางแล้วจะเหมือนมีชีวิตใหม่ ทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างงานศิลปะอันเต็มไปด้วยสีสัน
ดั่งชีวิตเจ้าของภาพในวัยหลังเกษียณ
เท้ายายม่อม Polynesian arrowroot (Tacca leontopetaloides) วงศ์ Dioscoreaceae ผลงานที่ร่วมแสดงในงานนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ Botanical Art Worldwide 2025
เท้ายายม่อม
นาตยา อุดมพัฒน์ หญิงสาวร่างเล็ก ท่วงท่าคล่องแคล่วเรียนวิชาคหกรรม เอกอาหารและโภชนาการ ในระดับ ปวช. ปวส. จนจบปริญญาตรี จากนั้นสอบได้ทุน ก.พ. ไปเรียนต่อวิชาเลขานุการที่วิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ฝึกจดชวเลข (shorthand) สำหรับบันทึกการประชุมให้ผู้บริหาร กลับมาแล้วสักพักจึงได้งานเลขานุการที่สภาพัฒน์
ไม่แปลกที่แป้งเท้ายายม่อมจะเป็นชื่อคุ้นเคยตั้งแต่เธอเป็นนักศึกษาเรียนทำอาหาร ใช้ทำขนมเนื้อนุ่มเหนียว เช่น ขนมชั้น ขนมน้ำดอกไม้ แต่เธอไม่เคยเห็นต้นจริง จนเมื่อมาตั้งใจวาดภาพเพื่อเข้าร่วมนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ Botanical Art Worldwide 2025 ในหัวข้อ “มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ”