เมื่อวิทย์สานศิลป์
ในนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์
ดร. ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล
INTERVIEW
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย ์
นิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติ Botanical Art Worldwide 2025 ถือเป็นงานระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๒ นับจากการจัดงานครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) ระหว่างช่วง ๗ ปีนั้นประเทศไทยมีการจัดงานนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ (Botanical Art Thailand) ต่อเนื่องเป็นประจำ โดยเจ้าภาพหลักคือ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และเครือข่ายวิทย์-สานศิลป์ (Sci-Art Network) ซึ่งเป็นการรวมพลังของนักวาดภาพพฤกษศาสตร์สมัครเล่นหลายวัย
ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ บนผนังโค้งชั้น ๓, ๔ และ ๕ ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะเรียงรายด้วยภาพวาดพฤกษศาสตร์ของหลากพืชพรรณ ผลงานจากนักวาดภาพ ๕๗ ชีวิต เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปมาเดินเพ่งพินิจและชื่นชมภาพวาดที่สวยงามและเสมือนกับภาพจริง
การจัดงานนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์นานาชาติในช่วงเดือนพฤษภาคมนั้น ริเริ่มโดย American Society of
Botanical Artists (ASBA) โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรด้านพฤกษศาสตร์และศิลปินภาพวาดพฤกษศาสตร์จากนานาประเทศ จัดงานแสดงของตนเองช่วงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็น “วันพฤกษศิลป์สากล World Botanical Art Day” และแต่ละประเทศจะส่งภาพที่ได้คัดเลือกจำนวน ๔๐ ภาพไปรวมกับผลงานที่ผ่านการคัดเลือกของประเทศอื่น ๆ เพื่อจัดแสดงร่วมกันทางออนไลน์
อาจารย์ปูเป้-ดร. ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์มาตั้งแต่การจัดงานระดับนานาชาติครั้งแรกและปีอื่น ๆ ซึ่งเป็นงานระดับประเทศ จนปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้านงานภาพวาดประเภทนี้
อาจารย์สอนวิชาภาพวาดวิทยาศาสตร์ (Scientif ic Illustration) เป็นวิชาเลือกให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ซึ่งจัดอบรมการวาดภาพพฤกษศาสตร์แก่คนทั่วไป ไม่นับภารกิจทางวิชาการ อย่างการเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ของพืชวงศ์กล้วยในเมืองไทย
สารคดี ชวนมาฟังเบื้องหลังบางมุมของการจัดนิทรรศการและการวาดภาพพฤกษศาสตร์ จากนักพฤกษศาสตร์ผู้มีหัวใจมากกว่าหนึ่งห้องมอบให้งานศิลปะ
หัวข้อการวาดภาพในนิทรรศการปีนี้คือ “มรดกพืชพรรณธัญญาหารของชาวสุวรรณภูมิ” มีที่มาอย่างไร
จริง ๆ หัวข้อของปีนี้ที่ใช้ร่วมกันทั่วโลกคือ Heritage Crops ความหมายคือพืชที่ใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นมาเกิน ๕๐ ปี ด้วยความหวังจะอนุรักษ์พันธุ์ดั้งเดิมที่อาจไม่ได้ปลูกเป็นการค้าแล้ว เขากลัวมันสูญหาย อย่างสหรัฐอเมริกามีข้าวโพดพันธุ์สีม่วง สีแปลก ๆ ถั่วแปลก ๆ ยกตัวอย่างสับปะรดมาจากอเมริกากลาง แต่อยู่ในเมืองไทยมาเกิน ๓๐๐ ปี เห็นจากภาพหลักฐานที่ลา ลูแบร์ วาดไว้ (หนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตของฝรั่งเศส เข้ามาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) หรือมันแกวจริง ๆ ก็มาจากอเมริกากลาง แต่ปลูกในเมืองไทยนานแล้ว ก็วาดส่งเข้ามาได้ จริง ๆ ประเทศไทยมีพืชพรรณพื้นเมืองมากกว่า ๑ หมื่นชนิด อย่างผักพื้นบ้าน ผักติ้ว ผักแพว ผักปลัง หลายชนิดไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น มะมุด ละไม แต่ความที่ไม่เป็นที่รู้จัก หาตัวอย่างมาวาดยากมาก (หัวเราะ) ก็เลยไม่ค่อยมีคนวาด