ภาพวาดลายเส้นของช่อดอกเปรียงประจิม แสดงลักษณะทางสัณฐานวิทยา ส่วนดอกตูมและปมดอก
จาก “นักวิทย์” สู่ “นักวาด”
Botanical Illustration
พฤกษศิลป์
พฤกษศิลปิน
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“เปรียงประจิมเป็นพืชชนิดใหม่ วาดยากสุดเลยก็ว่าได้ ที่เตรียมมาวาดก็เป็นพืชชนิดใหม่อีกชนิด ส่วนนี้เตรียมร่างภาพไว้แล้ว แต่ตรงนี้ยังไม่ได้เตรียม”
ในห้องทำงานชั้น ๒ ของภาควิชาชีววิทยา ผศ.ดร. ยศเวท สิริจามร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับภาพวาดพฤกษศาสตร์ที่วางอยู่บนโต๊ะและติดตามฝาผนัง หนึ่งในนั้นคือ “เปรียงประจิม” พืชสกุลหางไหล ลำดับที่ ๓ ต่อจากตาปลาป่าปูน (Derris tonkinensis) และหางไหลเขียว (Derris solorioides) ที่พบในระบบนิเวศแบบเขาหินปูน
อาจารย์ยศเวทพบเปรียงประจิมบนเขาช่องพราน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และสังเกตว่าแตกต่างจากพืชในสกุลเดียวกัน หลังผ่านการวิเคราะห์ของนักพฤกษอนุกรมวิธานอย่างละเอียดหลายขั้นจึงยืนยันว่าเป็นพืชชนิดใหม่ เบื้องต้นตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Derris longiracemosa เนื่องจากช่อดอกมีความยาวเฉลี่ยมากที่สุดเท่าที่เคยพบในพืชสกุลนี้
ผศ.ดร. ยศเวท สิริจามร นักพฤกษอนุกรมวิธานและนักวาดภาพพฤกษศาสตร์
ภาพวาดเปรียงประจิมเป็นผลงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ยศเวทและ พันธ์วริศ บุญประจันทร์ นักศึกษาปริญญาโท (ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประจำภาควิชาชีว-วิทยา) ภาพลายเส้นขาวดำบนกระดาษขาวนวลแสดงลักษณะของช่อดอกทั้งระยะใกล้และไกล กลีบดอกคู่ล่าง กลีบดอกคู่ข้าง เกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย ใบ รวมทั้งลักษณะของฝักเมื่อแห้งซึ่งรอบเมล็ดจะมีสีคล้ำขึ้นเล็กน้อยและผนังฝักไม่ได้นูนหนา ซึ่งเป็นลักษณะที่พบเหมือนกันในหางไหลเขียว พืชที่คาดว่าเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดทางสายวิวัฒนาการ...แต่เป็นคนละชนิดกัน
ภาพวาดที่งดงามให้รายละเอียดถูกต้องตามหลักพฤกษศาสตร์ใช้เป็นสิ่งอ้างอิงข้ามกาลเวลา เช่นเดียวกับภาพวาดพืชพรรณโดยศิลปินยุโรปในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่แม้ผ่านเวลามานับร้อยปีก็ยังมีคุณค่า
เมื่อนักวิทยาศาสตร์จับพู่กัน
“ความฝันในวัยเด็กของผมคือการได้เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลในชนบท แต่พอสอบเอนทรานซ์ไม่ติด นั่นเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต โชคดีที่ผมรู้จักและเข้าใจความรักความชอบของตัวเอง ค้นพบความสุขและความต้องการจริง ๆ ว่าคือการศึกษาสิ่งมีชีวิตและพรรณไม้มาตั้งแต่เด็กแล้ว พอพลาดหวังจากคณะแพทย์ไม่นานก็เลือกทางเดินชีวิตใหม่ด้วยการเป็นนักพฤกษศาสตร์ สาขาพฤกษอนุกรมวิธาน หรืออนุกรมวิธานพืช”
สมัยเรียนปริญญาตรีที่สาขาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ยศเวทเคยเป็นนักศึกษาทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) หลังจบปริญญาตรีเขาเรียนต่อปริญญาโทสาขาเดิมและได้รับเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากนั้นได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านพฤกษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไลเดิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Hortus Botanicus สวนพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืชเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ภาพวาดแสดงลักษณะช่อดอกเปรียงประจิม กิ่งและใบ
ตัวอย่างพืชที่ได้มาจากทั่วประเทศจะเก็บรักษาด้วยวิธีการดองแอลกอฮอล์