Image

พฤฒิพล ประชุมผล
ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
เครื่องเล่นกระบอกเสียง
และหีบเสียงไทย

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“เราอยากทำ (พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่น กระบอกเสียงและหีบเสียงไทย) ไว้เป็นความรู้ให้ประเทศชาติ”

เริ่มสนใจเรื่องหีบเสียง กระบอกเสียง แผ่นเสียง ตั้งแต่เมื่อใด

ทุกคนเคยฟังเพลง คนยุคผมฟังเทป ๘ แทร็ก ต่อมาถึงเป็นเทปคาสเซ็ต ซีดี ผมสนใจว่าต้นตอการบันทึกเสียง ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องคืออะไร ก็ไปพบแผ่นเสียง กระบอกเสียง คิดอยากทำให้ของพวกนี้กลับมามีชีวิต เพราะสมัยเด็กผมชอบเอาเทปคาสเซ็ตใส่วิทยุแล้วกดปุ่มอัด เลยคิดว่าบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงอีกครั้งได้ไหม

ตอนเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาเลยตระเวนไปทั่ว มีตลาดนัดที่ไหนก็ไปดูคนที่เขาเอาเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาขาย ส่วนมากเขาไม่ได้เอาเครื่องที่มีน้ำหนักมากหรือเครื่องสำคัญมาโชว์ ผมไปคุยเขาก็บอกว่าสนใจก็ไปดูได้ ผมก็ขับรถตามไปถึงที่ จำได้ว่าหลงในป่าโกงกางก็มี ไปใต้ถุนบ้านฝรั่ง เอาของออกมาปัดฝุ่น ไปหลายรัฐทั้งมิสซูรี แคนซัส โดยเฉพาะพวกรัฐที่อยู่ตรงกลางของประเทศสหรัฐฯ เป็นรัฐเก่า มีของโบราณมากและเขาขายถูก คนขายยังบอกว่าผมบ้าน่าดู

ได้ของแล้วเอามาทำอะไร เก็บไว้ที่ไหน

เอามาซ่อม หยอดน้ำมัน อพาร์ตเมนต์ของผมที่อเมริกาเต็มไปด้วยเครื่องพวกนี้ เพื่อนที่ไปเห็นก็ตกใจว่าอยู่ได้อย่างไรกับของเหล่านี้  ที่บ้านก็ไม่ทราบและเขาก็ไม่ได้เพิ่มค่าขนมให้ด้วย ผมใช้วิธีรับประทานเมนูไข่เป็นหลัก ประหยัดเงินเอาไปซื้อของพวกนี้

เริ่มทำพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

พอเรียนจบ ผมเอาของใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนกลับมาที่บ้านก็ตกใจเพราะมีมากมาย ตอนนั้นยังไม่มีทุน ไม่ได้คิดเรื่องทำพิพิธภัณฑ์ จนทำงานมาสักพักหนึ่งเริ่มรู้เยอะ เช่น รู้จุดเริ่มว่ามีเครื่องเล่นกระบอกเสียง มีแผ่นเสียง สงสัยต่อว่าเกี่ยวกับไทยอย่างไร กระบอกเสียงที่บันทึกเสียงเกี่ยวกับคนไทยมีไหม

ผมค้นคว้าต่อจนพบสิ่งมีค่ามากคือกระบอกเสียงบันทึกเพลง “Siamese Patrol” รับเสด็จ ร. ๕ ประพาสยุโรป
ผมประมูลของแบบนี้ จ่ายเท่าไรก็ยอมเพราะนับถือ ร. ๕ อยู่แล้ว  ต่อมายังได้เครื่องเล่นกระบอกเสียงสำคัญทั้งยี่ห้อ Columbia, Edison ฯลฯ เลยเริ่มคิดเรื่องเผยแพร่ เพราะถ้าเราตายไปคงน่าเสียดายความรู้

Image

Image

0