ผัดหมี่ฮ่องกง
“เส้น” ใน “สยาม”
๓ ศตวรรษ
วัฒนธรรม "เส้น"
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ทศวรรษ
๒๓๐๐
เส้นหมี่แห้ง
จดหมายเหตุที่เรียกว่า คำให้การ ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เป็นคำบรรยายสภาพภูมิสถานบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยายุคสุดท้ายจากความทรงจำของผู้ที่ทันพบเห็น โดยกล่าวถึงบ้านคลองสวนพลูซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา ว่าเป็นชุมชนคนจีน ทำธุรกิจต้มกลั่นสุรา เลี้ยงหมู และทำเส้นหมี่แห้งขาย ถือเป็นย่านชุมชนคนจีนที่สำคัญ จนถึงคราวสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ เคยเป็นที่ตั้งค่ายทหารอาสาชาวจีน ป้องกันรอบนอกกรุงศรีอยุธยาแห่งหนึ่ง
ข้อมูลเรื่องชุมชนจีนในอยุธยาที่ผลิตและจำหน่ายเส้นหมี่แห้งนี้น่าสนใจมาก แต่ยังขาดรายละเอียด เพราะไม่รู้ว่าปลายทางของเส้นหมี่เหล่านี้คือที่ใด ใครเป็นลูกค้าหรือนำไปทำอะไรกิน
ทศวรรษ
๒๔๐๐
พระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว
กล่าวกันว่า “ก๋วยเตี๋ยว” มาจากคำจีนในสำเนียงแต้จิ๋วหรือไม่ก็ฮกเกี้ยน หมายถึงเส้นแป้งข้าวเจ้า จึงย่อมเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินอย่างจีนที่คนไทยรับมาอีกต่อหนึ่ง คนไทยจะรู้จักก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่เมื่อใดยังค้นไม่พบ ทว่าหลักฐานของคำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” ในภาษาไทยปรากฏชัดเจนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นอย่างช้า
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บันทึกว่า ในปี ๒๔๐๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงอยู่ในสถานะพระมหาอุปราชของรัชกาลที่ ๔ ประชวรหนัก ระหว่างนั้นเจ้าจอมมารดากลีบทำ “พระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว” (คงหมายถึงก๋วยเตี๋ยวน้ำ) ให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระองค์ตักเสวยได้เพียงสองฉลองพระหัตถ์ (สองช้อน) ทอดพระเนตรเห็นมีขนอยู่ในก๋วยเตี๋ยว จึงทรงสงสัยว่าเหตุที่ประชวรอาจมาจากการทำเสน่ห์ยาแฝดของเจ้าจอมมารดากลีบ จึงให้ตั้งคณะลูกขุนขึ้นพิจารณาคดี ชำระความได้ว่ามีการทำคุณไสยจริง ลูกขุนตัดสินลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต พอดีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “มีพระราชดำริสงสัยแคลงอยู่ว่าการจะไม่จริง” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกโทษประหารชีวิตเสีย เป็นแต่เนรเทศเจ้าจอมมารดาไปหัวเมือง
ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นว่า ในทศวรรษ ๒๔๐๐ “ก๋วยเตี๋ยว” กลายเป็นอาหารที่คนไทยบริโภคกันทั่วไป จนถึงระดับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ รวมทั้งเคยมีราชาศัพท์เรียกว่า “พระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว”
จิตรกรรมฝาผนังพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน พระอุโบสถ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ