EP. 02
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว
* ภาพเก่าและของใช้ส่วนตัวจำนวนหนึ่งที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้
ได้รับความอนุเคราะห์จากทหารผ่านศึกหลายท่าน
ค.ศ. ๒๐๒๔
“สงครามลับในลาว”
ยังอยู่ในความทรงจำผู้คน
ที่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน
ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวลาวยังจำ
เรื่องการรบที่ “ภูผาที/ภูผาถี่” ได้
“ภูผาที” ธงชาติ สปป.ลาว บริเวณทางขึ้นภูผาทีใน ค.ศ. ๒๐๒๔ ที่นี่คือหนึ่งในสมรภูมิสำคัญยุคสงครามเย็น
ศึกชิงผาที
ในบรรดาเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามลับในลาวที่คนไทยทั่วไปคุ้นเคยคือการรบที่ “ภูผาที” ใกล้ชายแดนลาว-เวียดนาม และเรื่องของ “โยธิน” พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ที่ถูกส่งไปป้องกันฐานเรดาร์ลับที่ยอดผา
ผมรับรู้เรื่องนี้ครั้งแรกสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาจากนิยายภาพ “ชีวิตจำลอง” ตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ สวนเด็ก (วางแผงช่วงพุทธทศวรรษ ๒๕๓๐) ยุคนั้นพลตรีจำลองเป็นดาวรุ่งทางการเมืองไทยและดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พลเอกสายหยุดเล่าใน ชีวิตนี้มีค่ายิ่ง ว่าเขาสนทนาเรื่องนี้กับ “โยธิน” ซึ่งเล่าว่าขณะมียศร้อยเอกเป็นผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร ราว ค.ศ. ๑๙๖๖ อาสาไปรบที่เมืองปากเซ แขวงสะหวันนะเขต ไปหลวงพระบาง เข้าประจำกองร้อย SR5 ที่เมืองสุย จนต้นปี ค.ศ. ๑๙๖๘ มีคำสั่งให้ไปรับตำแหน่งหัวหน้าทีม Z-16 ปกป้องฐานเรดาร์ที่ยอด “ภูผาที” ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๗๘๖ เมตร
ด้วยเรดาร์ Tactical Air Control and Navigation - TACAN บนยอดผาสำคัญมาก เพราะทำหน้าที่นำทางเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ โจมตีเวียดนามเหนือได้แม่นยำไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นใด ทั้งนี้สหรัฐฯ เลือกผาทีเป็นที่ตั้งเรดาร์โดยให้ชื่อรหัสว่า Lima Site 85 (LS-85) มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๖ โดยวางกำลังทหารม้งราว ๘๐๐ นายอยู่เชิงเขาเพื่อปกป้องฐาน
วันที่ “โยธิน” ถูกเรียกไป เขาบันทึกว่า ผาทีถูกข้าศึก “ล้อมไว้หมดแล้ว” และมีข้อมูลว่าก่อนที่เขาจะไป ในเดือนมกราคม ๑๙๖๘ ฝ่ายเวียดนามเหนือส่งเครื่องบินใบพัดมาโจมตีหนหนึ่ง
ห้าสิบหกปีต่อมา, แขวงหัวพัน สปป.ลาว ผมตามรอยพลตรีจำลองไปยังภูผาทีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำแอด-ภูเลย โดยใช้ถนนลาดยางสภาพค่อนข้างดีออกจากเมืองซำเหนือไปทางทิศตะวันตกราว ๖๐ กิโลเมตรเพื่อเข้าสู่เส้นทางลูกรังขึ้นสู่ผาที เรื่องที่น่าขบขันคือ ผมใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเพื่อไปให้ถึงตีนผา แต่คนม้งแถบนี้ขี่มอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเวฟราวกับไปปิกนิกในสวนสาธารณะใกล้บ้าน
ปัจจุบันผาทีไม่ใช่ดอยลึกลับหรือขึ้นยาก มีบันไดซีเมนต์ตรงเชิงผา ต่อด้วยบันไดเหล็กไต่ขอบผาไปจนถึงยอด ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแขวงเชียงขวาง คนในท้องถิ่นเรียกที่นี่ว่า “ผาถี่” อันหมายถึงที่ที่เต็มไปด้วยหน้าผา คนม้งที่นี่เชื่อว่าผาถี่เป็นที่สถิตของเจ้าป่าเจ้าเขา ความโดดเด่นคือมีลักษณะคล้ายแท่งหินยอดตัด ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาสูงสลับซับซ้อน
อย่างไรก็ตามที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว “กึ่งเปิดกึ่งปิด” ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารก่อนขึ้น หรือมีไกด์ท้องถิ่นนำไป ไม่อย่างนั้นทหารที่เชิงดอยก็จะไม่อนุญาต เนื่องจากทางขึ้นสูงชันและหมอกจัด
ซากฐานเรดาร์ TACAN ของสหรัฐฯ บริเวณยอดผาที ซึ่งครั้งหนึ่งทีม Z-16 ของไทยปกป้อง ก่อนถูกยึดโดยทหารเวียดนามเหนือและปะเทดลาวในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘
ซากที่ดูคล้ายฐานปืนใหญ่บนยอดผาที อยู่ใกล้อดีตที่ตั้งฐานเรดาร์