Image

Image

แสก
สาก/เสียง
สำเนียงบอกชาติพันธุ์

ชาติพันธุ์อีสาน
หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์

เสียงไม้ ความยาวเป็นวาหลายคู่กระทบกันและกระทบกับไม้หนุน ผสานเสียงเป็นจังหวะระรัวดังไปทั่วลานหน้าศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ริมแม่น้ำโขงหน้าหมู่บ้านอาจสามารถ ที่ถูกใช้เป็นลานแสดงนาฏลักษณ์ การเต้นรำประกอบจังหวะที่เรียกกันในวันนี้ว่า “แสกเต้นสาก” ในงานวันตรุษแสก “กิ๋นเตดเดน” รวมใจไทแสก เมื่อเช้าตรู่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่บ้านอาจสามารถ

เป็นภาพเดียวกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
มาเห็นเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๔๙ ตามที่นิพนธ์ไว้ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรอีสาน ร.ศ. ๑๒๕ พ.ศ. ๒๔๔๙ ว่า

“เวลาบ่าย ๓ โมง หลวงเอกอาสา นายอำเภอเมืองอาจสามารถ นำพวกหญิงชาติแสกมา มีการเล่นซึ่งเรียกว่าเต้นสากให้ดู มีหญิง ๑๐ คู่ ถือปลายไม้ยาว ๆ พาดบนไม้ท่อนใหญ่ ๒ ท่อน นั่งตรงกันเปนคู่ ๆ จับไม้ที่ถือกระทบเปนจังหวะพร้อม ๆ กัน แล้วมีหญิงอีก ๒ คู่ ผลัดกันเต้นข้ามไปในระหว่างไม้ที่กระทบกันนั้น คนที่ถือไม้ร้องโห่ฮิ้วขัดจังหวะไปด้วย”

บ้านไผ่ล้อมและบ้านอาจสามารถเป็นแหล่งแรกของการตั้งถิ่นฐานบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง จากนั้นชาวแสกบางส่วนไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านดอนสมอ อำเภอศรีสงคราม และที่บ้านบะหว้า อำเภอนาหว้า  รวมสี่ชุมชนในจังหวัดนครพนม ประชากรราว ๓,๕๐๐ คน

แสกเต้นสากเป็นการละเล่นในงานบวงสรวง “โองมู้” หรือบรรพบุรุษคนแรกที่นำชาวแสกข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวา และเชื่อว่าทุกวันนี้ยังคงคุ้มครองดูแลหมู่บ้านแสกอยู่ ทุกปีจะจัดพิธีบูชาที่เรียกว่า “กิ๋นเตดเดน” ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ 

ในวันงานทั้งหมู่บ้านจะกลายเป็นเหมือนลานนิทรรศการกลางแจ้งขนาดใหญ่

บ้านอาจสามารถ ชุมชนขนาดตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองนครพนม ห่างตัวจังหวัดนครพนมขึ้นไปทางเหนือตามฝั่งโขงราว ๔ กิโลเมตร ซึ่งมีถนนเลียบแม่น้ำเป็นแนวเขตชุมชนด้านริมน้ำ ส่วนอีกด้านตรงข้ามเป็นถนนใหญ่สาย ๒๑๒ ช่วงนครพนม-ท่าอุเทน มีซอย ๑๐ ซอยตัดขวางเชื่อมระหว่างถนนทั้งสองสายที่ขนาบอยู่สองข้างของชุมชน ชื่อซอยคล้องจองเรียงกันไปว่า หลักเมือง เอกอาษา ชนานุรักษ์ พิทักษ์ประชาชน มงคลบุรี บุตรดีปฐม บรมหายโศก เทพารักษ์ พิทักษ์ชายแดน แดนสำราญ

ในวันงานตรุษแสกประจำปี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ตามถนนและซอยย่อยเหล่านี้มีการตกแต่งประดับประดาแลราวกับเป็นอุทยานหรือลานนิทรรศการ

บ้านอาจสามารถในยามมีงานบุญใหญ่ วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี คนทั้งชุมชนจะแสดงอัตลักษณ์ผ่านการละเล่นและการแต่งกาย

Image