Image

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
เรื่องเล่าของนักเล่าเรื่อง
โลกขับเคลื่อนด้วยเรื่องเล่า
แต่ไม่ใช่เรื่องเล่าของเราคนเดียว

writer
40 Years of Storytelling

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image

หากนับจากปี ๒๕๕๗ ที่เธอได้รับรางวัลระดับประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแจ้งเกิดของนักเขียนหน้าใหม่คนหนึ่งในวงการวรรณกรรมไทย ล่วงถึงบัดนี้ก็เป็นเวลากว่า ๑ ทศวรรษมาแล้ว

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นามปากกา “ร เรือในมหาสมุท” เธอตั้งใจนำตัว ร มาใส่ไว้ข้างหน้า เนื่องด้วยคำสมุท ท้ายนามสกุลไม่มีอักษรตัวนี้

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทั้งสองนามนี้นับเป็นนักเขียนดาวรุ่งมาแรงในทศวรรษนี้ กับรางวัลอีกมากมายที่การันตีฝีมือในการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนของเธอ ซึ่งได้รับมาตลอดช่วงการทำงานเขียน ไล่มาตั้งแต่รางวัลพระยาอนุมานราชธน เมื่อยังเป็นนักศึกษา  รางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้นเล่ม สิงโตนอกคอก เมื่อปี ๒๕๖๐ ฯลฯ  จนถึงนักเขียนรางวัลศิลปาธรคนล่าสุดเมื่อปี ๒๕๖๖ 

ผู้อ่านฟังเรื่องเล่าผ่านตัวหนังสือของเธอมานับสิบปี วันหนึ่งวันนี้เราขอให้จิดานันท์เล่าเรื่องของตัวเธอเอง ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องเล่ามากมายที่เราได้ฟัง (อ่าน) มา...

ตอนอายุ ๑๒ เรียนอยู่ ป. ๖ ครอบครัวย้ายจากสมุทรปราการบ้านพ่อ ไปอยู่เชียงรายบ้านแม่ ช่วงไปอยู่บ้านญาติไม่มีอะไรทำเลยเขียนหนังสือ

ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาอ่านหนังสือ ซึ่งในบ้านมีสองลังกระดาษ พี่ ๆ อ่านอยู่ก่อนแล้ว น่าจะมาจากพ่อแม่  ตอนนั้นอ่าน เราจะข้ามเวลามาพบกัน แล้วอยากเป็นจิตแพทย์ ดูเก๋ดี

พ่อเขียนกลอนได้แต่ไม่เคยถามว่าแกหัดเขียนจากไหน พี่ ๆ เขียนเอง บางครั้งเขียนให้เพื่อนด้วย  พ่อดีใจนะที่เราเขียนหนังสือ แกเพิ่งเสียเมื่อ ๒ ปีก่อน

เมื่อยุคเริ่มมีอินเทอร์เน็ต เด็ก ๆ ฮิตการเขียนลงเว็บไซต์ เราก็เขียนมาเรื่อย ส่วนใหญ่แนวแฟนตาซี แต่เราไม่เคยผ่านพิจารณาได้ตีพิมพ์เลย จนมีเพื่อนมาชวนให้ประกวดเรื่องสั้นสยองขวัญ ก็ได้รับรางวัลที่ ๑ กับที่ ๓ ได้เงินมาก้อนหนึ่งเป็นค่าเทอมช่วงเรียนมหาวิทยาลัย

แต่ไม่ใช่ว่าส่งแล้วได้รางวัลทุกเวที เราก็ต้อง “เก็งข้อสอบ” ได้รางวัลพระยาอนุมานราชธนของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี ๒๕๕๗  รางวัล Young Thai Artist Award 2016  เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปี ๒๕๕๗ และปีต่อมาได้รางวัลยอดเยี่ยมจากเรื่องสั้น “จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว”

การประกวดกับการทำงานกับบรรณาธิการก็ขัดเกลาเราอย่างมาก เวลาตกรอบมันสอนเราอย่างรุนแรงว่างานชิ้นนี้มีข้อเสียอะไร อันที่ผ่านมีข้อเด่นอะไร  เมื่อจะพิมพ์หนังสือการทำงานกับสำนักพิมพ์ก็ได้เรียนรู้เยอะ มีการขัดเกลาทางภาษา ซึ่งจำเป็นสำหรับงานเขียน  บรรณาธิการบางคนก็คัดทิ้งเยอะ บางเรื่องบอกให้ไปแก้ บางคนไม่แก้ มีแต่เอากับไม่เอาเท่านั้น

Image