Image

ไพฑูรย์ กระโทกนอก
เจ้าของโกโก้ฟาร์ม

bean to bar
คาเคาเป็นโกโก้

CHOCOLATE IN SIAM

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ 
และ นุชจรี โพธิ์นิยม (นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช และ Chocolasia

การผลิตช็อกโกแลตโดยคนไทยเพิ่งเป็นที่ยอมรับไม่กี่ปี เมื่อมีคนพาช็อกโกแลตสัญชาติไทยสู่สายตาชาวโลกและคว้ารางวัลจากเวทีสากลกลับมา แต่รับรู้เพียงวงแคบและส่งต่อข้อมูลแบบกระซิบกันไปไกล ทำให้เรื่องเล่า “กว่าจะเป็นช็อกโกแลต” ยังทิ้งห่างต้นเรื่อง  เราพยายามออกจากวังวนนั้นโดยกลับไปสืบข้อมูลต้นทางมาถ่ายทอดความเข้าใจเกี่ยวกับต้นคาเคา-พืชเศรษฐกิจที่คนไทยรู้จักน้อยนิด ปริศนาทางเคมีในผลคาเคา จนขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการ “เปลี่ยนเมล็ดจนเป็นช็อกโกแลต”

อยากแนะนำให้ละเลียดอ่าน ซึมซับกลิ่นหอมรสหวานจากพืชลึกลับ-รื่นรมย์

ต่อเมื่อรู้จักเสน่ห์ซับซ้อน ช็อกโกแลตคำต่อไปจะอร่อยกลมกล่อมกว่าที่เคย

สวัสดี...คาเคา

ต้นพฤศจิกายน ๒๕๖๖ เรื่องของคาเคากำลังสุกงอมที่ “โกโก้ฟาร์ม”

สายธารสีน้ำตาลเข้มอย่างกับเครื่องดื่มช็อกโกแลตนำทางสู่อาณาเขตเกษตรที่มีฉากหลังเป็นเขายายเที่ยงในเขตตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีแนวป่าติดเขื่อนลำตะคอง แต่ธารที่นี่กำเนิดจากสระน้ำส่วนตัวที่เกษตรกรออกแบบไว้ใช้ประโยชน์ด้านเพาะปลูกทั้งยางพาราและคาเคา

นับแต่ปี ๒๕๒๐ ที่ป่าภาคอีสานถูกทำลายหนัก รัฐบาลจึงส่งเสริมให้นำยางพารามาเพิ่มพื้นที่สีเขียว เหตุการณ์สำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นการปลูกคือปี ๒๕๓๐ ที่ทางการผุดโครงการอีสานเขียว ดำเนินนโยบายสร้างแหล่งน้ำให้เกษตรกรและแจกต้นกล้าผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเวลานั้นชาวอีสานยังไม่เชื่อมั่นว่าพืชจากถิ่นใต้ที่งอกงามในสภาพอากาศร้อนชื้นจะงอกเงยได้บนแผ่นดินอีสานที่สภาพอากาศร้อนแล้ง  ครั้นเวลาผ่าน ๘-๙ ปี ผลิตผลจากน้ำยางก็ส่งผลให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านนั่งนับเงินเพลิน แต่นั้นลูกบ้านทั่วถิ่นอีสานจึงทยอยปลูกตาม  แล้วปี ๒๕๕๒ ก็ปรากฏสถิติมีพื้นที่ปลูกยางพาราของถิ่นที่ราบสูงอยู่เกือบ ๓ ล้านไร่ เพียงปีถัดมาก็ก้าวกระโดดจนไปถึง ๓ ล้านกว่าไร่โดยมีความฝันด้านรายได้เป็นแรงจูงใจ

พื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ควบบทบาทศูนย์เรียนรู้วิธีปลูกคาเคาแบบสวนผสม การบำรุงดูแลและจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ไปจนกระบวนการเก็บเกี่ยวผล-แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โฮมเมด

Image
Image

Image