คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
พระพิฆเนศที่ได้รู้จัก ตัวตน ที่มา
และบทบาทของเทพอันเป็นที่รัก
Interview
Eat Pray Art with “Bro ! Ganesha”
เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ลองหันมองรอบตัว ตั้งแต่หิ้งพระในบ้าน เทวาลัยขนาดย่อมหน้าร้านอาหาร โปสเตอร์บนรถขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงบนโต๊ะของรุ่นพี่ที่นั่งติดกับเราในที่ทำงาน ล้วนมี “พระพิฆเนศ” และไม่ว่าคุณจะสายมูเตลูหรือไม่ก็ตาม คุณก็ต้องรู้จักเทพฮินดูที่ชาวอินเดียและเอเชียให้ความเคารพบูชามากที่สุดองค์นี้
ในแวดวงภารตวิทยา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และวัฒนธรรมอินเดีย ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรืออาจารย์ตุล เป็นที่คุ้นเคยในฐานะนักเขียน นักวิชาการ อาจารย์สอนปรัชญา ผู้แสดงทัศนะและอธิบายเรื่องราวความเชื่อ ศาสนา ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้เข้าใจง่าย แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน ทำให้มีแฟนคลับทุกช่วงวัยและหลากหลายอาชีพ หากพูดถึงพระพิฆเนศหรือเทพฮินดู ชื่อของอาจารย์ตุลก็จะเป็นลำดับต้น ๆ ที่คนนึกถึง
อาจารย์ตุลบอกว่า เวลาพูดถึงเทพเจ้า คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับความศักดิ์สิทธิ์ เทวตำนาน การบูชา แต่เขาสนใจในแง่ความเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ ความเชื่อมโยงกับสภาพสังคม ข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุมล้วนกลั่นมาจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ในภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอีกแง่ในบทบาทผู้ปฏิบัติจริงจนเจนจัดในเรื่องพิธีกรรม
เขายังเป็นโต้โผการจัดงานคเณศจตุรถีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัย ชุมชน และนักศึกษา เพื่อให้เป็นพื้นที่แสดงออกถึงความหลากหลายของความคิด ความเชื่อทางศาสนา และขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียในวงกว้าง
เมื่อ สารคดี ฉบับนี้ว่าด้วยหลากหลายเรื่องราวของพระพิฆเนศ หากจะให้ครบรสเราจึงมานั่งพูดคุยกับอาจารย์ตุล ในมุมมองและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเรื่องราวของพระพิฆเนศ พระคเณศ คณปติ วินายก ฯลฯ ทั้งประวัติศาสตร์ ความเชื่อ การบูชา ความนิยมชมชอบงานสะสม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับผู้คน และการกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาแบบไทย ๆ ซึ่งจะทำให้รู้จักตัวตนแท้จริงของเทพที่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุดองค์นี้ยิ่งขึ้น
หลายคนเรียกพระพิฆเนศ บ้างเรียกพระคเณศ คำเรียกมีหลากหลาย อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายความหมายของชื่อ
จริง ๆ เทพฮินดูแต่ละองค์มีชื่อเป็นพันชื่อ เพื่อเอาไว้สวดอย่างพระพิฆเนศก็มีชื่อหลัก ๆ ที่เราได้ยินบ่อย เช่น วินายก คณปติ คเณศ วิฆเนศวร์ ภาษาไทยก็พิฆเนศ ส่วนในอินเดียมีชื่อเรียกที่เป็นหลักเลยคือคเณศ มาจากคำว่า คณะ และ
อีศะ คณะในที่นี้มีความหมายพิเศษ หมายถึงบริวารของพระศิวะ ซึ่งก็คือบรรดาภูตผี ส่วนอีศะหมายถึงพระเจ้า หรือผู้เป็นใหญ่ ความหมายโดยรวมจึงแปลว่าพระพิฆเนศคือหัวหน้าของภูตผีปีศาจ
ส่วนคนไทยนิยมเรียกพระพิฆเนศวร์ ผันมาจากวิฆเนศวรที่แปลว่าเทพเจ้าแห่งความขัดข้องและอุปสรรค ตามบทบาทหลักในอินเดีย เมื่อบูชาแล้วจะขจัดอุปสรรคและเสริมให้เกิดความสำเร็จ และหลัง ๆ มีการโยงกับเรื่องความสำเร็จเยอะ ท่านมีอีกชื่อว่าสิทธิวินายก แปลว่านายผู้ประทานความสำเร็จ