Image

โมน สวัสดิ์ศรี
นักเขียนและ “ติ่งรถไฟไทย”

Train Stories

เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

"ปัญหาของบ้านเราคือสิ่งที่สมควรทำไม่ทำแต่ไปทำเรื่องไม่สมควรทำ

ในแวดวงผู้ติดตามข่าวสารวงการรถไฟ โมน สวัสดิ์ศรี เป็นหนึ่งในนามที่รู้จักกันดีว่าเป็น “ติ่ง” รถไฟที่เหนียวแน่นคนหนึ่ง

โมนเกิดในครอบครัวนักเขียน มีบิดาคือ “สิงห์สนามหลวง”-สุชาติ สวัสดิ์ศรี และมารดาคือ “ศรีดาวเรือง”-วรรณา สวัสดิ์ศรี ซึ่งชื่นชอบการเดินทางด้วยรถไฟ ทำให้เขาได้สัมผัสยานพาหนะชนิดนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยยามเจ็บป่วยแม่มักอุ้มเขาขึ้นหลังพาขึ้นรถไฟที่สถานีดอนเมืองเพื่อไปลงที่สถานีหัวลำโพงแล้วต่อรถไปหาหมอที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เสมอ

ความประทับใจในพาหนะใหญ่โตซึ่งเคลื่อนที่บนรางทำให้เขาเริ่มสะสมโมเดลรถไฟ หัวรถจักรจำลอง ฯลฯ ตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ ความสนใจยังขยายไปถึงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ต่อมาด้วยความที่บ้านอยู่ติดทางรถไฟ (ป้ายหยุดรถคลองรังสิต) โมนจึงอาศัยรถไฟเดินทางไปเรียน ทำงาน ไปเที่ยว มาจนปัจจุบัน

ผูกพันกับรถไฟมาตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มนั่งจริงจังนอกจากไปหาหมอได้อย่างไร

มาเริ่มจริงจังตอนนั่งไปต่างจังหวัด รู้สึกถึงความช้า เวลานั่งรถไฟในเมือง คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสังเกตเรื่องนี้

ทำไมนั่งรถไฟไปต่างจังหวัดเรื่อง “ความช้า” จะชัดกว่านั่งรถไฟในเมือง

ความเร็วที่รถไฟทางไกลทำได้ หากล่าช้ามาก ๆ จะกลายเป็นการล่าช้าสะสม ยังไม่นับว่าตารางเวลาก็ทำได้ช้ากว่ารถทัวร์อยู่แล้ว สาเหตุจากรางที่เป็นรางเดี่ยว (single track) ทำให้ต้องรอสับราง รอขบวนที่สวนมา บางครั้งมีอุบัติเหตุก็ช้ายิ่งขึ้น ถ้าไม่ได้มีนัดกับใครก็คงสบาย ๆ อาจมองว่าได้กำไรเพราะตารางเวลาบอกว่าเดินทาง ๗ ชั่วโมง เดินทางจริง ๙ ชั่วโมง แต่ถ้ามีนัดไว้จะไม่สนุกแล้ว

Image