สะพานคาจู (Khaju Bridge)
อายุราว ๑,๕๐๐ ปี ข้ามแม่น้ำซายันเด (Zayande River) ในอิสฟาฮาน (Isfahan) เมืองหลวงเก่าของเปอร์เซีย
มรดกแห่ง IRAN
เรื่องและภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
อิหร่านหรือเปอร์เซีย เป็นที่ตั้งของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมานานกว่า ๒,๕๐๐ ปี โดยมีพระเจ้าไซรัสมหาราชเป็นปฐมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย
กลาง ค.ศ. ๒๐๑๙ ผู้เขียนขึ้นเครื่อง Mahan Air สายการบินสัญชาติอิหร่าน ไปดินแดนเปอร์เซียเป็นครั้งแรก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศของทวีปเอเชียที่สายการบินนี้บินตรงระหว่างกรุงเตหะราน-กรุงเทพมหานคร
คนอิหร่านรู้จักเมืองไทยดีจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่ราว ๔๐๐ ปีก่อน ตอนนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่ถือกำเนิดขึ้นมาเลย
มัสยิดสีชมพู (Nasir-ol-Molk) ในเมืองหลวงเก่าชีราซ (Shiraz)
เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสยามคือ เชค-อะหมัด คูมี หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเฉกอะหมัด ผู้ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จนมีฐานะร่ำรวย จนโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งกรมท่าขวา ดูแลกิจการการค้าของชาวมุสลิม ต่อมาได้สร้างความดีความชอบมากมายจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ระดับสมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ เฉกอะหมัดเป็นต้นสกุลหลายสาย เช่น บุนนาค อหะหมัดจุฬา อากาหยี่ นนทเกษ ฯลฯ
สายธารวัฒนธรรมเปอร์เซียส่งผ่านภาษาเข้ามาสยามประเทศอีกไม่น้อย เช่น คำว่าภาษี มาจากบัคซี มีความหมายว่า “ของให้เปล่า ของกำนัล หรือรางวัล” และคำว่าสนม มาจากซะนานะฮ์
หอคอยอะซาดี (Azadi Tower)
สร้างเป็นรูปตัว Y คว่ำ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒,๕๐๐ ปีของจักรวรรดิเปอร์เซียใน ค.ศ. ๑๙๗๑ ต่อมาลานกว้างขนาดใหญ่รอบหอคอยกลายเป็นที่รวมตัวประท้วงของชาวอิหร่านและเป็นสัญลักษณ์การปฏิวัติอิสลาม
ประเทศไทยจึงเป็นหมุดหมายปลายทางสำคัญของชาวอิหร่านผู้เดินทางมาท่องเที่ยวหรือประกอบธุรกิจในปัจจุบัน
แปดชั่วโมงต่อมาเครื่องบินลงจอดที่สนามบินนานาชาติ TehranI Imam Khomeini ตั้งชื่อตาม รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี นักการศาสนาชาวมุสลิม ผู้นำการปฏิวัติตามแนวทางอิสลาม เปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่สู่การเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านใน ค.ศ. ๑๙๗๙
เตหะรานในภาษาเปอร์เซียแปลว่าอ้อมเขาอันอบอุ่น หมายถึงสถานแห่งชาวเมืองที่อาศัยอยู่อย่างสงบและมีสันติสุข กรุงเตหะรานเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มีพื้นที่ ๓,๔๓๕ ตารางกิโลเมตร ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครราวสองเท่า มีประชากร ๒๕ ล้านคน เป็นมหานครสำคัญในภูมิภาคนี้รองจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และเป็นเมืองทันสมัยที่สุดในอิหร่าน มีอาคาร ตึกระฟ้าเกิดขึ้นมากมาย
ผู้หญิงอิหร่าน ปัจจุบันได้รับการผ่อนปรนมากขึ้น สถานะดีกว่าผู้หญิงในประเทศแถบตะวันออกกลางทั้งหมด อิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็น ๑ ใน ๑๐ ประเทศก้าวหน้าที่สุดในการยกระดับการศึกษาของผู้หญิง
แต่ก็มีปัญหาการจราจรติดขัดไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร และมีปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีสาเหตุจากท่อไอเสียของรถยนต์เป็นหลัก
เตหะรานมีภูมิประเทศแห้งแล้ง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับทะเล ๑,๒๐๐ เมตร ด้านเหนือล้อมรอบด้วยเทือกเขาอัลบอร์ซ
ชาวเปอร์เซียรักการปลูกต้นไม้มาก เราเห็นต้นไม้ใหญ่มากมาย ถนนโดยมากมีต้นไม้ใหญ่ปลูกชิดขอบ จนเรือนยอดสองฝั่งแทบจะชนกัน
ไกด์ชาวอิหร่านบอกว่าต้นไม้ทุกต้นมีค่าแก่พวกเขามาก กว่าจะงอกแต่ละต้นล้วนแสนยาก คนที่นี่จึงเคารพ รักและทะนุถนอม
คนเปอร์เซียรู้ดีว่า แม้ดินแดนแห่งนี้แห้งแล้ง แต่พวกเขาสามารถสร้างสวรรค์ท่ามกลางผืนดินกึ่งทะเลทรายเหล่านี้
ลวดลายแบบเปอร์เซียมักเป็นรูปทรงเรขาคณิต อักษรอิสลาม และดอกไม้ มีสีหลักเจ็ดสี คือ ฟ้า (เทอร์ควอยซ์) นํ้าเงิน ขาว ดำ เขียว เหลืองเข้ม และเหลืองอ่อน
สวนเปอร์เซีย
และ Paradise
วันต่อมาที่เมืองชีราซ (Shiraz) อดีตเมืองหลวงแห่งเปอร์เซีย เราแวะที่สวนสวรรค์แห่งหนึ่งนาม Naren-jestan e Ghavam อากาศร้อนภายนอกแทบจะหายไปเมื่อเดินข้ามประตูผ่านกำแพง เห็นสวนดอกไม้นานาชนิดปลูกเป็นระเบียบสองฟากฝั่ง ตรงกลางมีสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดยาวแบ่งทางเดินเป็นสองฝั่ง กลางสระมีน้ำพุพวยพุ่งเรียงเป็นระยะ ต้นส้มกำลังออกดอกส่งกลิ่นหอม ต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น ต้นอินทผลัมสูงโปร่งนำสายตาสู่คฤหาสน์ของขุนนางเบื้องหน้าที่ประดับประดาผนังและเพดานด้วยลวดลายอันวิจิตรและงานกระจกหลากสี ศิลปะแบบเปอร์เซีย
เช่นเดียวกันกับสวนฟิน (Bagh-e Fin) ในเมืองคาชาน (Kashan) เมืองเล็ก ๆ กลางทะเลทรายอันร้อนระอุ กลางแดดเปรี้ยง ๆ ที่อยู่ห่างชีราซขึ้นไปทางเหนือราว ๗๐๐ กิโลเมตร
สวนฟินน่าจะเป็นสวนเปอร์เซียเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังคงความสมบูรณ์ ไม้สนซีดาร์อายุกว่า ๕๐๐ ปีเป็นหลักฐานเพียงเสี้ยวที่บ่งบอกอายุสวนว่ามีมานานหลายพันปี
เราเห็นน้ำพุผุดขึ้นตามรางน้ำใสสีเทอร์ควอยซ์ ทอดยาวสู่พระตำหนักกลางน้ำในสมัยพระเจ้าอับบาสมหาราช (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๙) รางน้ำเป็นแกนกลางแบ่งสวนเป็นสี่ส่วนตามแนวคิดของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่แบ่งโลกเป็นสี่ส่วน คือ ท้องฟ้า แผ่นดิน น้ำ และต้นไม้
Narenjestan e Ghavam
สวนเปอร์เซียในเมืองชีราซ มีรูปแบบชัดเจน มีกำแพงล้อมรอบ สวนและน้ำพุอยู่ตรงกลาง คำว่า paradise อันหมายถึงสรวงสวรรค์ มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย pari-daiza แปลว่า สถานที่ถูกกำแพงห้อมล้อม
สองข้างทางปลูกต้นไม้ดอกไม้หลากชนิด มีดอกกุหลาบ ดอกส้ม ส่งกลิ่นหอม สังเกตว่าคนอิหร่านนิยมปลูกกุหลาบกับส้มมากเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะดอกกุหลาบ ดอกส้มมีน้ำมันหอมระเหยมาก คนอิหร่านจึงนิยมนำดอกไม้เหล่านี้มาปรุงน้ำหอมชนิดต่าง ๆ
ชาวเปอร์เซียแต่เดิมก็นิยมปลูกต้นกุหลาบมากจนเป็นดินแดนแห่งกุหลาบ ชื่อ “กุหลาบ” ในภาษาไทยก็นำมาจากภาษาเปอร์เซียว่ากุล้อบ แปลว่าน้ำดอกไม้
ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ ยูเนสโกประกาศให้สวนฟินเป็นหนึ่งในเก้าของสวนเปอร์เซียที่รวมเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
สวนเปอร์เซียมีรูปแบบชัดเจน มีกำแพงล้อมรอบสวนและน้ำพุอยู่ตรงกลาง คำว่า paradise ที่แปลว่าสรวงสวรรค์ ก็มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย pari-daiza แปลว่าสถานที่ถูกกำแพงห้อมล้อม
เนื่องจากภูมิประเทศในเปอร์เซียหรืออิหร่านส่วนใหญ่แห้งแล้ง เป็นทะเลทราย ฝนไม่ค่อยตก บรรดาชนชั้นสูงจึงสร้างสวรรค์ให้ตัวเองด้วยการสร้างวังหรือคฤหาสน์มีกำแพงล้อมรอบ
ภายในมีน้ำพุ บ่อน้ำ สวนดอกไม้ และปลูกต้นไม้หลายชนิดสร้างความร่มรื่นเย็นสบาย
ขัดแย้งกับชีวิตภายนอกกำแพงอันร้อนระอุ
โลกภายในจึงเป็นสรวงสวรรค์ของชนชั้นสูง แต่ถูกกำแพงปิดล้อมจากความเป็นจริง ด้านนอกนั้นชีวิตผู้คนส่วนใหญ่อาจมีสภาพแทบจะตรงกันข้าม
เปอร์เซโพลิส (Persepolis)
ซากเมืองหลวงเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อายุราว ๒,๕๐๐ ปี สุดยอดความรุ่งเรืองของเปอร์เซีย สร้างขึ้นโดยพระเจ้าไซรัสมหาราช
เปอร์เซโพลิส (Persepolis)
ที่สุดแห่งความรุ่งเรือง
ย้อนกลับไปราว ๒,๕๐๐ ปีก่อน หากถามว่าอาณาจักรยิ่งใหญ่ของโลกยุคนั้นคือที่ใด หลายคนอาจนึกถึงกรีก อียิปต์ จีน อินเดีย น้อยคนนักที่จะทราบว่าเวลานั้นอาณาจักรเปอร์เซียกำลังรุ่งเรืองสุดขีด
อิหร่านในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พระเจ้าไซรัสมหาราชเป็นผู้ก่อตั้งจักรวรรดิเปอร์เซียในราว ๕๕๐ ปีก่อนคริสตศักราช ทรงนำชาวอารยันจากรอบ ๆ เทือกเขาคอเคซัสอพยพลงใต้มุ่งสู่ดินแดนแห่งนี้และโค่นล้มผู้ปกครองเดิม สถาปนาขึ้นเป็นราชวงศ์อะคีเมนิด
พระเจ้าไซรัสมหาราชแผ่ขยายอาณาจักรครอบคลุมคาบสมุทรบอลข่าน บางส่วนของยุโรปตะวันออก นครรัฐกรีกบางส่วน เอเชียตะวันตก ดินแดนอานาโตเลีย คาบสมุทรอาระเบีย ไปถึงเอเชียตอนกลาง ดินแดนรอบ ๆ ทะเลสาบแคสเปียน อัฟกานิสถาน ถึงแม่น้ำสินธุ จนกลายเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในยุคนั้น
พระองค์สถาปนาตัวเองเป็นราชันแห่งราชันทั้งปวง (King of Kings)
พระเจ้าไซรัสมหาราชได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองและมีคุณธรรมสูง ทรงให้ความเคารพศาสนา ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมอันแตกต่างของผู้คนในดินแดนที่เอาชนะ ไม่ทำลายทิ้งเหมือนกษัตริย์องค์อื่น ๆ ทรงกระจายอำนาจการปกครองจึงเป็นที่รักของคนทั่วไป และเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ไม่ใช่ชาวยิว แต่มีบันทึกในพระคัมภีร์เก่าของศาสนาคริสต์
ภาพ : unsplah.com
เรามายืนอยู่เบื้องหน้าเปอร์เซโพลิส ซากเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตั้งอยู่เชิงเขา Kuh-e Rahmat หรือเทือกเขาแห่งความเมตตา บริเวณเมืองชีราซ สร้าง
ขึ้นโดยพระราชดำริของพระเจ้าไซรัสมหาราช แต่สำเร็จจนกลายเป็นเมืองหลวงและศูนย์การปกครองแห่งอาณาจักรเปอร์เซียในสมัยพระเจ้าดาไรอัสมหาราช ระหว่าง ๕๕๐-๓๓๐ ปีก่อนคริสตศักราช
จารึกในสมัยของพระเจ้าดาไรอัสมหาราชบันทึกไว้ว่า วัสดุคุณภาพสูงที่ใช้ก่อสร้างเมืองล้วนมาจากแดนไกล เช่น ทองคำจากซีเรีย หินแกรนิตจากอียิปต์ แผ่นอิฐจากบาบิโลน เป็นต้น
เราเริ่มต้นเดินตามทางลาดปูด้วยหิน ก้าวย่างขึ้นไปจนถึงกลุ่มพระราชวัง ผ่านเสาหินขนาดยักษ์ ก่อนจะเห็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตมโหฬารอันแสดงถึงความยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย คือพระราชวังอปาดานา (Apadana palace) ทุกวันนี้ยังเห็นเสาหินยักษ์สูง ๒๐ เมตร นับร้อยเสา หัวเสาสลักเป็นรูปโคคู่ เอกลักษณ์แห่งสถาปัตยกรรมเปอร์เซีย เสาเหล่านี้รองรับด้วยคานไม้ซีดาร์จากเลบานอนหรือไม้สักจากอินเดีย คือร่องรอยท้องพระโรงรับแขกบ้านแขกเมือง ใหญ่โตพอจะบรรจุคนนับหมื่น กว่าจะถึงบัลลังก์ของกษัตริย์ออกว่าราชการหรือต้อนรับอาคันตุกะจากแดนไกลที่มาสวามิภักดิ์ คนเข้าเฝ้าจะต้องเดินผ่านป่าเสายักษ์ที่ตั้งเรียงราย แสดงถึงอำนาจการเมืองการปกครองที่ทุกดินแดนต่างยอมสยบให้แก่มหาราชพระองค์นี้
ซากประตูและเสาหินยักษ์แห่งเมืองเปอร์เซโพลิส
ฐานบันไดขึ้นท้องพระโรงด้านหนึ่งสลักหินเป็นเหล่าขุนนางชาวเปอร์เซียในอิริยาบถต่าง ๆ ขณะรอรับเสด็จ อีกด้านหนึ่งสลักเป็นภาพทูตจาก ๒๒ ชาติทั่วจักรวรรดิเข้าแถวรอถวายเครื่องราชบรรณาการที่นำมาจากแคว้นตนเอง ภาพสลักเหล่านี้ได้รับการรักษาไว้ดีเยี่ยม เป็นหลักฐานชั้นเลิศที่สามารถระบุรูปร่างหน้าตาและเครื่องแต่งกายของผู้คนในเวลานั้น และบางชนชาติก็ได้หายสาบสูญไปแล้ว เช่น ชาวลิเดีย อัสซีเรีย พาร์เทียน ฯลฯ
น่าเสียดายว่าเมืองที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเวลานั้นมีอายุเพียง ๑๘๐ ปี ก่อนถูกเผาทำลายอย่างย่อยยับ
พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชกรีธาทัพบุกยึดนครแห่งนี้ หลังจากกองทัพกรีกที่มีกำลังพล ๔ หมื่นกว่าคนสามารถเอาชนะกองทัพนับแสนคนของพระเจ้าดาไรอัสที่ ๓ แห่งแผ่นดินเปอร์เซีย เมื่อ ๓๓๔ ปีก่อนคริสต-ศักราช ทำให้อาณาจักรเปอร์เซียล่มสลาย
เพียงแค่ ๓ วันหลังจากพระองค์เหยียบเปอร์เซโพลิสก็เกิดเพลิงลุกไหม้รุนแรงจนมอดทั้งเมือง
เราได้ไปเยือนซากโบราณสถานแห่งหนึ่งมีป้ายบอกว่า สันนิษฐานว่าเพลิงเริ่มลุกไหม้จากบริเวณนี้
ภาพ : unsplash.com
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าหากไม่ใช่พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชบัญชาให้เผาเมืองด้วยความเคียดแค้น ที่ครั้งหนึ่งกองทัพเปอร์เซียเคยบุกเผาวิหารพาร์เธนอนในกรุงเอเธนส์ ก็อาจเป็นเพราะอุบัติเหตุจากนายทหารกรีกดื่มฉลองกันจนเมามายขาดสติจนเกิดไฟไหม้
นครแห่งนี้ถูกทิ้งรกร้างนานหลายพันปี กระทั่งใน ค.ศ. ๑๙๓๐ อ็องเดร กอดาร์ (André Godard) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสขุดสำรวจเป็นคนแรก จากเสียงร่ำลือมานานถึงความงดงามอลังการของสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์แห่งนี้ และมีการขุดสำรวจต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งองค์การยูเนสโกประกาศให้เปอร์เซโพลิสเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน ค.ศ. ๑๙๗๙
หลังการเข้ามาของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชในดินแดนเปอร์เซียอีกหลายร้อยปี ศาสนาอิสลามได้เข้ามาเผยแผ่และกลายเป็นศาสนาประจำชาติ ดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรเปอร์เซียแห่งนี้มีทั้งยุครุ่งเรืองและเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในช่วงหลังเมื่อมหาอำนาจตะวันตกเริ่มล่าอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกา
ซากอารยธรรมเก่าแก่แห่งนี้สะท้อนว่าไม่มีอะไรอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมสภาพเป็นของคู่กันเสมอ
ภาพสลักหินของทูตจาก ๒๒ ชาติทั่วจักรวรรดิ เป็นหลักฐานที่สามารถระบุรูปร่างหน้าตาและเครื่องแต่งกายของผู้คนในเวลานั้น
โซโรอัสเตอร์
(Zoroaster)
ศาสนาบูชาไฟ
ยาซด์ (Yazd) เป็นเมืองโบราณบนเส้นทางสายไหม กลางทะเลทรายอันร้อนแรง เราเดินทางมาที่นี่เพื่อเยือนวิหารไฟ (Fire Temple of Yazd) ศูนย์กลางการนับถือศาสนาบูชาไฟ โซโรอัสเตอร์ ศาสนาที่ถือกำเนิดในยุคอาณาจักรเปอร์เซียและได้รับการยอมรับและแพร่หลายอย่างรวดเร็วเมื่อกษัตริย์ยุคนั้นศรัทธาเลื่อมใสในคำสั่งสอนของโซโรอัสเตอร์ ศาสดาผู้ให้กำเนิด
วิหารไฟเป็นตึกชั้นเดียวรูปทรงธรรมดา ดูภายนอกไม่ได้โดดเด่นอะไร หน้าบันอาคารมีภาพสลักสัญลักษณ์ของ Fravashi เครื่องหมายประจำศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นรูปนักบวชและปีกนก พอเดินเข้าไปภายใน ตรงกลางวิหารไฟเป็นที่ตั้งของกระถางไฟขนาดใหญ่ กล่าวกันว่าไฟบนกระถางนี้ถูกจุดตั้งแต่ ค.ศ. ๔๗๐ หรือราว ๑,๕๐๐ กว่าปีก่อน และลุกโชนสว่างไสวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ชาวโซโรอัสเตอร์จากทั่วโลกจะจาริกแสวงบุญมาที่นี่เพื่อทำพิธีบูชาไฟ
ภาพ : unsplash.com
ศาสนาบูชาไฟถือกำเนิดในภาคตะวันออกของอาณาจักรเปอร์เซียเมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีก่อน เชื่อว่าภายใต้พระเป็นเจ้าหนึ่งเดียวมีเทพเจ้าสององค์ คือเทพเจ้าแห่งความดี มีคุณลักษณะเจ็ดประการ คือ สว่าง ใจดี ถูกต้อง ครอบครอง ศรัทธา เป็นอยู่ดี และอมตภาพ มีแสงสว่างเป็นเครื่องหมาย ทรงสร้างแต่สิ่งดีงาม เช่น ความสวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ความสมหวัง เป็นต้น กับอีกองค์หนึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความชั่ว มีความมืดเป็นเครื่องหมาย สร้างแต่สิ่งชั่วหรือไม่ดีทั้งหลาย เช่น ความอัปลักษณ์ ความอดอยาก ความทุกข์ ความผิดหวัง เป็นต้น
เทพเจ้าทั้งสององค์ต่อสู้กันตลอดเวลา ในที่สุดฝ่ายดีชนะ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือโลกมนุษย์มีสองด้าน ความมืด-ความสว่าง ความดี-ความชั่ว ที่ต่อสู้กัน และใช้ไฟเป็นสัญลักษณ์ในการขับไล่ความมืดและความชั่วร้ายจึงเกิดการบูชาพระอาทิตย์ด้วยการจุดไฟตลอดทั้งวันและคืน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์
เชื่อกันว่าศาสนาบูชาไฟมีอิทธิพลต่อการพัฒนาของศาสนาอื่นในเวลาต่อมา คือ ศาสนายูดาห์ คริสต์ และอิสลาม
ภาพ : unsplash.com
เราสังเกตเห็นผู้คนทยอยมาสักการบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไม่ต่างจากนครมักกะฮ์ของบรรดาชาวมุสลิมทั่วโลก แต่ปริมาณคนนับถือโซโรอัสเตอร์ทั่วโลกน้อยกว่ามากนัก เพียงหลักแสนเท่านั้น
กล่าวกันว่าศาสดาโซโรอัสเตอร์ถูกข้าศึกสังหารพร้อมสาวก ๘๐ คน ขณะทำพิธีในโบสถ์
ภายหลังการสิ้นชีพของศาสดา ศาสนาบูชาไฟยังได้รับความนิยมและรุ่งเรืองในอาณาจักรเปอร์เซียนับพันปี ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแผ่อิทธิพลเมื่อนักรบมุสลิมชาวอาหรับเข้าครอบครองอาณาจักรเปอร์เซียใน ค.ศ. ๖๓๗ เปลี่ยนผู้คนให้มานับถืออิสลาม คนที่นับถือโซโรอัสเตอร์ส่วนใหญ่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศจนเหลือน้อยมากในปัจจุบัน
ไม่ไกลจากวิหารไฟ บนเนินเขาแห่งหนึ่งนอกเมืองยาซด์มีที่ฝังศพ (Tower of Silence) เก่าแก่หลายร้อยปีของชาวโซโรอัสเตอร์ เมื่อเดินขึ้นไปข้างบนจะเป็นลาน เห็นหลุมขนาดใหญ่ ในอดีตสัปเหร่อจะนำศพมาวางไว้ให้แร้งกินเป็นอาหาร ไม่ฝัง ไม่เผา ด้วยความเชื่อว่าศพต้องไม่สัมผัสดิน เพื่อความบริสุทธิ์ของแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินจะได้ไม่ปนเปื้อนกับศพ
สถานที่แห่งนี้ไม่ได้ใช้งานเช่นครั้งอดีตนานแล้ว แต่บรรยากาศยังดูวังเวงและสงัดจนดูเหมือนมีพลังลึกลับบางอย่าง ทำให้ผู้มาเยือนต้องให้ความเคารพอย่างเงียบ ๆ
สาวอิหร่านจัดงานวันเกิดในสวนสาธารณะจัตุรัส Naqsh-e Jahan ด้านหลังคือมัสยิดหลวง Masjed-e Shah
อาหารอิหร่าน ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ข้าว เนื้อไก่ แกะหรือปลา หัวหอม ผัก ถั่ว สมุนไพร และแป้งโรตีที่เรียกว่านาน ขณะที่ขนมหวานมักทำจากถั่วและแป้ง มีรสหวานเป็นพิเศษ
มัสยิดหลวง
Masjed-e Shah
“มนุษย์ไม่ perfect”
อาณาจักรเปอร์เซียเป็นมารดาแห่งรากฐานการออกแบบสถาปัตยกรรมของโลกใบนี้มานานแล้ว
มัสยิดหลวง Masjed-e Shah อาจเรียกได้ว่าเป็นมารดาแห่งมัสยิดทั้งปวงในอิหร่าน
ใน ค.ศ. ๑๕๙๘ เมื่อพระเจ้าชาห์ อับบาสมหาราชแห่งราชวงศ์ซาฟาวิดย้ายเมืองหลวงมาที่อิสฟาฮาน และสร้างให้เมืองหลวงใหม่เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นศูนย์รวมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมเปอร์เซียอย่างวิจิตรงดงาม จนกระทั่งได้ฉายาว่าเป็น “นครหลวงแห่งวัฒนธรรมเปอร์เซีย” หนึ่งในความยิ่งใหญ่นี้คือมัสยิดหลวง ณ จัตุรัสใหญ่กลางเมือง
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖
พระเจ้าอับบาสมหาราช
ประกาศให้อิสลามนิกายชีอะห์
เป็นศาสนาหลักของเปอร์เซีย
มัสยิดหลวง (Masjed-e Jameh)
แห่งเมืองยาซด์ (Yazd) มีเสามินาเรตหรือหอกระจายเสียงสูงที่สุดในอิหร่าน
พระราชวังอาลีคาปู แห่งนครอิสฟาฮาน ตั้งชื่อตามอาลี อิหม่าม ผู้นำศาสนาคนแรกของนิกายชีอะห์
จัตุรัสใหญ่แห่งนี้แวดล้อมด้วยกลุ่มอาคารต่าง ๆ สามส่วน คือ พระราชวังอาลีคาปู มัสยิด และบาซาร์ (ตลาด) แสดงถึงบทบาทสำคัญของกลุ่มคนในสังคม คือกษัตริย์ นักบวช และพ่อค้า
มัสยิดหลวงตั้งอยู่ทางด้านใต้ของจัตุรัส โดดเด่นด้วยหอมินาเรต (หอสวดมนต์) สูง ๔๘ เมตร และมีโดมรูปหัวหอมขนาดใหญ่สองชั้นครอบซ้อนกัน เป็นแนวคิดทางวิศวกรรมในการช่วยถ่ายเทน้ำหนักความกว้างใหญ่ของโดม โดมภายในสูง ๓๘ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๓ เมตร โดมภายนอกสูง ๕๓ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๕ เมตร
กล่าวกันว่าเทคนิคการสร้างโดมสองชั้นต้องแม่นยำสูงมากต้องก่อสร้างคู่ขนานกันเพื่อรับน้ำหนักของโดมทั้งสอง
ตรงโถงประตูทรงโค้งทางเข้าด้านหน้าที่เห็นคือความงดงามของลวดลายบนกำแพง ด้านบนเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ คล้ายรวงผึ้งประดับด้วยโมเสกวิจิตร ถัดลงมาเป็นผนังประตูฝังลวดลายกระเบื้องสีเทอร์ควอยซ์งดงามยิ่ง ช่างเปอร์เซียจะใช้สีเพียงเจ็ดสี คือ สีฟ้า น้ำเงิน ขาว ดำ เขียว เหลือง (สองโทน) และสีที่ใช้เป็นหลักในการคุมโทน คือฟ้าและน้ำเงิน
เปอร์เซียเป็นมหาอำนาจทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นำรูปทรงเรขาคณิตมาประยุกต์ใช้กับงานศิลปะ
ตอนแรกงานก่อสร้างไม่ค่อยคืบหน้า เพราะความยากลำบากทั้งการสร้างอาคารและการประดับลวดลายละเอียดยิบโดยใช้กระเบื้องฝังลาย แม้จะงดงามมากแต่ใช้เวลาและราคาแพง พระเจ้าอับบาสมหาราชเกรงว่าจะไม่ได้เห็นมัสยิดนี้จึงเร่งให้เร็วขึ้นโดยลดทอนคุณภาพลง ให้ใช้เทคนิคเขียนลายบนกระเบื้องที่เรียกว่า haft rangi (แปลว่าเจ็ดสี) ประหยัดเงินมาก แต่คุณภาพก็สู้วิธีฝังลายกระเบื้องแบบเดิมไม่ได้
การก่อสร้างยาวนานถึง ๑๘ ปี ใช้อิฐ ๑๘ ล้านก้อนและกระเบื้อง ๔๗๕,๐๐๐ ชิ้น แต่สุดท้ายพระเจ้าอับบาสมหาราชก็สวรรคตก่อนมัสยิดหลวงสร้างเสร็จ
เราเดินเข้าไปภายในโดมอันงดงาม ที่น่าสนใจคือเมื่อมายืนตรงกึ่งกลางโดม เพียงแค่ดึงกระดาษก็ปรากฏเสียงดังก้องชัดเจนกลับไปมาร่วม ๓๐ ครั้ง เป็นความฉลาดของสถาปนิกผู้ออกแบบให้เกิดระบบเสียงสะท้อนคุณภาพสูง เพื่อให้ชาวมุสลิมได้ยินเสียงเทศน์ได้ชัดเจนทั่วถึงทั้งโดมอย่างไม่น่าเชื่อ
ลวดลายผนังปูนฉลุเป็นรูปชาม ขวดน้ำเพื่อเก็บเสียงห้องดนตรีในพระราชวังอาลีคาปู นครอิสฟาฮาน
ภาพวาดนางสนมในพระราชวังอาลีคาปู กษัตริย์เปอร์เซียบางพระองค์มีนางสนม ๓,๐๐๐ กว่าคน
หลังจากเยี่ยมชมภายในมัสยิดทุกซอกมุม ไม่ว่าจะเป็นศิลปะรูปทรงแบบเรขาคณิตหรือเลียนแบบธรรมชาติ สมบูรณ์สุดยอด ไกด์ชี้ให้เราเห็นเสาด้านหน้าสองเสาอันแตกต่างกันเสาหนึ่งมีการสลักลวดลาย อีกเสาหนึ่งไม่มี
เป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบที่จะทำให้เห็นความแตกต่างเสาต้นแรกจะเห็นถึงความสมบูรณ์แบบ อีกต้นหนึ่งจะเห็นความไม่สมบูรณ์แบบ
เพราะคนสมัยนั้นเชื่อว่า
“ความสมบูรณ์เกิดจากพระเจ้าทรงสร้างเท่านั้น”
เขาจึงตั้งใจออกแบบให้ไม่สมบูรณ์ เป็นเสมือนปริศนาธรรมเตือนสติมนุษย์ทุกคนว่า
มนุษย์ไม่เคยสมบูรณ์
ใครที่มั่นใจตัวเองว่า perfect ทุกอย่างควรรีบมาชมมัสยิดหลวงแห่งนี้โดยพลัน และใครอยากเข้าใจความรุ่งเรือง ความล่มสลาย ความไม่แน่นอนของชีวิต มาสัมผัสได้บนดินแดนแห่งนี้
บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการ, คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ชลลดา เตียวสุวรรณ และ พาฝัน ศุภวานิช. Iran : The Crossroads of Civilization จุดบรรจบอารยธรรมโลก. กรุงเทพฯ : วงกลม, ๒๕๖๐.
Burke, Andrew. Iran. China : Lonely Planet.
ขอขอบคุณ : สำนักพิมพ์วงกลม
จาก "เปอร์เซีย" สู่ "อิหร่าน"
๕๕๐-๓๓๐ ปี
ก่อนคริสตศักราช
ราชวงศ์อะคีเมนิดปกครองอาณาจักรเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่ มีอาณาเขตกว้างไกลครอบคลุมอู่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย ลุ่มน้ำไนล์ในอียิปต์ และลุ่มน้ำสินธุในอินเดีย
ค.ศ. ๖๓๖
มุสลิมอาหรับบุกเข้ายึดครองเปอร์เซีย เปลี่ยนศาสนาจากโซโรอัสเตอร์เป็นอิสลาม
คริสต์ศตวรรษที่ ๙
กำเนิดภาษาเปอร์เซียและอักษรอาหรับ เข้าสู่ยุคทองของศิลปะ วัฒนธรรม ปรัชญา วิทยาศาสตร์ การแพทย์
ค.ศ. ๑๒๒๐
กองทัพมองโกลบุกเข้ายึดครองดินแดนเปอร์เซีย
ค.ศ. ๑๕๐๑
พระเจ้าชาห์อิสมาอิลที่ ๑ สถาปนาราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid) และประกาศให้อิสลามนิกายชีอะห์เป็นศาสนาแห่งรัฐ เปอร์เซียเข้าสู่ยุครุ่งเรืองครั้งใหม่
ค.ศ. ๑๗๓๖
พระเจ้าชาห์นาเดอร์มหาราชสถาปนาราชวงศ์อาฟชาริด (Afsharid) ทรงรวบรวมแผ่นดินต่าง ๆ เข้าเป็นจักรวรรดิเปอร์เซีย ภายหลังได้รับการเรียกขานว่า “อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒”
ค.ศ. ๑๗๙๔
พระเจ้าโมฮัมมัด ข่าน กอญัร ตั้งราชวงศ์กอญัร (Qajar) ทำให้เปอร์เซียเป็นปึกแผ่นอีกครั้งจากความวุ่นวายหลังยุคชาห์นาเดอร์
ค.ศ. ๑๘๒๘
เสียดินแดนแถบคอเคซัสหลังพ่ายสงครามให้แก่รัสเซีย เกิดการอพยพของชาวมุสลิมจำนวนมาก
ค.ศ. ๑๘๗๐
ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ มีคนตายกว่า ๒ ล้านคน
ค.ศ. ๑๙๐๕
ปฏิวัติการปกครองเปลี่ยนแปลงอำนาจให้พระเจ้าชาห์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และจัดตั้งรัฐสภาขึ้น
ค.ศ. ๑๙๒๑
ทหารภายใต้ข่านเรซาก่อรัฐประหาร ต่อมาเขาสถาปนาราชวงศ์ปาห์ลาวี และขึ้นครองประเทศเป็นพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี
ค.ศ. ๑๙๓๕
พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เรียกประเทศของเขาว่า “อิหร่าน” แทนเปอร์เซีย (Iran มีความหมายว่า แผ่นดินของเพื่อนร่วมชาติ)
ค.ศ. ๑๙๔๑
พระเจ้าชาห์ โมฮัมมัด เรซา ปาห์ลาวี ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ท่ามกลางความวุ่นวายของประเทศในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายหลังเขาปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพัฒนาประเทศหลายด้าน แต่มีนโยบายเอนเอียงไปทางชาติตะวันตก
ค.ศ. ๑๙๗๙
การปฏิวัติอิหร่านหรือการปฏิวัติอิสลาม นำโดย อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี เปลี่ยนการปกครองในระบอบกษัตริย์เป็นรัฐอิสลาม โดยมีผู้นำสูงสุดคือผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ (Rahbar) ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการเลือกตั้ง และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”
https://www.historytoday.com/archive/feature/return-ayatollah-iran%E2%80%99s-islamic-revolution
อ้างอิง :
https://www.bbc.com/news/world-middle-east-14542438
https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Iran