“นมเย็น” และ
“ไอ้แมงมุม”
เมื่อ “ของจิ๋ว”
สื่อสารกับสังคมไทย
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : เพจ “Big Bangkok
กรุงเทพเมืองใหญ่” และเพจ “ไอ้แมงมุม”
“นมเย็น” หน้าวัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ
“ไอ้แมงมุม” กับแมวที่กลายเป็นสัตว์พาหนะขนาดยักษ์
หากใครติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจที่เกี่ยวข้องกับ “ของจิ๋ว” ในยุคบุกเบิก คือช่วงทศวรรษ ๒๐๑๐ ย่อมจะต้องรู้จักหรือเคยผ่านตา “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” กับ “ไอ้แมงมุม”
ปัจจุบันเพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” มียอดไลก์ ๑๑๘,๐๘๖ ไลก์ ขณะที่ “ไอ้แมงมุม” มียอดไลก์ ๒๖๑,๖๑๒ ไลก์ (มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๐) เรียกได้ว่าในโลกโซเชียลมีเดียทั้งสองเพจเป็นเพจยอดไลก์หลักแสนที่มีคนติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอ
ลองหยิบโทรศัพท์มือถือไล่ดูไทม์ไลน์เพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” ย้อนไป ค.ศ. ๒๐๑๒ จะพบภาพถ่ายตุ๊กตาพลาสติกตัวเล็กในสถานที่ท่องเที่ยวจริง เช่น วัด พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ในท่วงท่าและลีลาลงตัวกับบริบทแวดล้อมและด้วยเทคนิคการถ่ายภาพทำให้ผู้ดูราวกับเข้าไปอยู่ในโลก “มนุษย์จิ๋ว” ที่มีขนาดราว ๓-๕ เซนติเมตร
เพจนี้ทำให้วัยรุ่นหลายคนอยากไปเที่ยววัดและพิพิธภัณฑ์มากขึ้น
ส่วนเพจ “ไอ้แมงมุม” มีจุดเด่นที่นำเสนอสไปเดอร์-แมนขนาด ๕ เซนติเมตรในหลายท่วงท่าปฏิสัมพันธ์กับแมวและสุนัขที่กลายเป็นสัตว์ยักษ์อย่างน่าสนใจ ทั้งยังมีจุดเด่นคือองค์ประกอบเสื้อผ้าหน้าผมที่ทำให้สไปเดอร์-แมนมีกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างน่าพิศวง
เพจนี้ทำให้หลายคนยิ้มได้เมื่อเห็นซูเปอร์ฮีโร่ออกท่าทางในแบบที่พวกเขาไม่คิดว่าจะได้เห็น
ในแง่ของการสื่อสาร สองเพจนี้เป็น “คลื่นลูกแรก” ที่อาศัยพลังโซเชียลมีเดียจนทำให้ “ของจิ๋ว” สื่อสารกับสังคมไทย
จาก “ตุ๊กตาจิ๋ว” ถึง “นมเย็น” เรื่องเล่าของ Big Bangkok
น้อยคนจะทราบว่าเฟซบุ๊กเพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” คือผลพลอยได้จากโครงการวิจัยของ รศ. ดร. กิตติชัย เกษมศานติ์ แห่งสาขาวิชานิเทศศิลป์ (การถ่ายภาพ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๒
“ผมขอทุนวิจัยจากสำนักวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำโครงการวิจัยผลิตสื่อสำหรับเยาวชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เรามองว่าวัยรุ่นส่วนมากไปเดินห้างสรรพสินค้า เราอยากดึงพวกเขากลับมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” อาจารย์กิตติชัยเล่าก่อนจะอธิบายว่าเหตุที่นำตุ๊กตาจิ๋วขนาด ๒-๕ เซนติเมตรมาใช้จูงใจก็เพราะต้องการเปลี่ยนจากวิธีเดิม เช่น ทำโปสต์การ์ด ที่แพร่หลายในยุคนั้น “เรายังมีแรงบันดาลใจจากการถ่ายภาพทั่วกรุงเทพฯ รู้สึกว่าเมืองมันไม่ได้ใหญ่ แต่หลากหลาย ก็คิดถึงโมเดลรถไฟที่มีตุ๊กตารูปคนในอิริยาบถต่าง ๆ จึงคิดว่าจะเล่นกับขนาดของตุ๊กตาตัวเล็ก (ฟิกเกอร์) และขนาดของเมือง”
อาจารย์กิตติชัยเล่าว่าโครงการนี้นำตุ๊กตาตัวเล็กไปวางในสถานที่ท่องเที่ยว ๓๐ แห่งในกรุงเทพฯ แล้วใช้มุมมองการถ่ายภาพใหม่ช่วยนำเสนอ “เราคุ้นเคยกับการถ่ายภาพระดับสายตา แต่เมื่อเอากล้องลงบนพื้นผมเรียกว่า ‘มุมมองของมด’ (ant’s eye view) ก็ต้องปรับตัว เพราะเจอสิ่งกีดขวางทั้งหญ้า ฝุ่น ดิน ขยะ ทดลองเลนส์หลายแบบจนตกลงใช้เลนส์ตาปลา (fisheye lens) โฟกัสของขนาดเล็กได้โดยไม่ทำให้ฉากหลังที่เป็นสาระสำคัญหายไป”
อาจารย์กิตติชัยบอกว่าหมดเงินกับการซื้อฟิกเกอร์จิ๋วทุกตัวราว ๑ แสนบาท ส่วนเฟซบุ๊กเพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ “เราหาคนมาช่วยทำแบบประเมินผล เอาของไปแจกที่สยามเพื่อขอให้คนช่วยทำแบบสอบถาม ส่วนเฟซบุ๊กเกิดขึ้นด้วยวิธีคิดเดียวกัน ปรากฏว่าได้รับความนิยม มีสื่อมาสัมภาษณ์ นิตยสาร สุดสัปดาห์ ชวนเขียนคอลัมน์”
แล้วยอดไลก์ก็ขึ้นสู่หลักแสนในเวลาไม่นาน “สมัยนั้นเพจนี้อาจเป็นของแปลก” อาจารย์กิตติชัยวิเคราะห์ ทว่าแม้จะจูงใจให้คนส่วนหนึ่งหันมาสนใจเที่ยววัดเที่ยววังมากขึ้น แต่ก็มีปัญหา เพราะ “เราใช้ตุ๊กตาจิ๋วของต่างประเทศซึ่งทุกคนหาซื้อได้ พูดง่าย ๆ คือไม่มีลักษณะเฉพาะ คนจำนวนหนึ่งก็มักถามว่าฟิกเกอร์ตัวเท่าไร เรากลายเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ไป เขาไม่ได้สนใจเรื่องที่เรานำเสนอ”
ค.ศ. ๒๐๑๔ คอลัมน์ “one minute to happiness” ในนิตยสาร สุดสัปดาห์ ได้รับการรวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ เมื่อตัวเราเล็กลง ความสุขก็ใหญ่ขึ้น ถือเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง ก่อนที่ปีต่อมาอาจารย์กิตติชัยจะได้ทุนไปเรียนปริญญาโทและเอกที่ประเทศอังกฤษ เพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” จึงไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก อย่างไรก็ตามแฟนเพจยังคงเห็นตุ๊กตาจิ๋วถ่ายคู่กับสถานที่โด่งดังอย่างบริเวณใกล้หอนาฬิกาบิ๊กเบน รัฐสภาอังกฤษ เป็นระยะ
เจ้าตัวเล่าว่าการถ่ายภาพแบบนี้ในสถานที่สำคัญมักใช้เวลานานก็ก่อความสงสัยให้ตำรวจ จนหลายครั้งต้องแสดงบัตรนักศึกษาแล้วอธิบายสิ่งที่กำลังทำอยู่
“ตำรวจกลัวว่าเราจะเป็นผู้ก่อการร้ายมาดูสถานที่วางระเบิดครับ” (หัวเราะ)
รศ. ดร. กิตติชัย เกษมศานติ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
การร่าง “นมเย็น” ในคอมพิวเตอร์ ก่อนสั่งผลิตออกมาเป็นของจริง
“นมเย็น” กับฟิกเกอร์สมัยโครงการแรกของอาจารย์กิตติชัย
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เรื่องของ “นมเย็น”
อาจารย์กิตติชัยเล่าว่าเมื่อจบปริญญาโทด้านการตลาดจาก Brunel University ก็เรียนต่อปริญญาเอกสาขาการวิจัยเพื่อการออกแบบ “ผมเก็บปัญหาความไม่เป็นตัวของตัวเองของเฟซฯ Big Bangkok มาคิดตลอด ผมต้องการทำของที่ไม่ซ้ำใคร”
อาจารย์กิตติชัยจึงทำงานชิ้นสุดท้ายก่อนเรียนจบด้วยการออกแบบ monster ตัวหนึ่งและให้ชื่อว่า “นมเย็น” โดยเป็นตุ๊กตามอนสเตอร์สีชมพูหน้าตาน่ารัก
“ผมใช้บุคลิกของภรรยาสร้างมอนสเตอร์ตัวนี้ ที่ไม่ทำเป็นคนเพราะมันตรงเกินไป มอนสเตอร์ให้ความรู้สึกแฟนตาซีและน่ารัก ชื่อ ‘นมเย็น’ มาจากสีชมพูที่คล้ายกับนมเย็น”
และ “นมเย็น” นี่เองถูกนำมาใช้กับโครงการวิจัย Big Bangkok ภาค ๒ (ชื่อทางการคือ “สื่อสิ่งพิมพ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำหรับเยาวชน : การพัฒนากลยุทธ์การผลิตสื่อและประเมินผล”) เมื่ออาจารย์กิตติชัยกลับเมืองไทยใน ค.ศ. ๒๐๑๘ “ผมขอทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัย โครงการนี้มีสามระยะ ระยะแรก ผมทำร่างมอนสเตอร์ให้เป็นสามมิติในคอมพิวเตอร์แล้วสั่งโรงงานผลิต ๑๒ ท่า ระยะที่ ๒ เอาไปถ่ายกับสถานที่ท่องเที่ยว ๑๐ แห่ง ผมจะถ่ายภาพสองครั้งก่อนจะนำ ‘นมเย็น’ มาขยายขนาดให้เท่าคนจริงแล้ววางลงไปในภาพสถานที่เดียวกัน ทำให้ ‘นมเย็น’ มีขนาดเท่ามนุษย์ที่มาเที่ยว ระยะที่ ๓ คือการประเมินผล”
เพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” จึงเคลื่อนไหวอีกครั้ง อาจารย์กิตติชัยเล่าว่า “ใช้เพจเดิมเพราะมีฐานคนติดตามอยู่แล้ว เป้าหมายเหมือนเดิมคือชวนคนวัย ๑๕-๓๕ ปีไปเที่ยวในสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ผมมองว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยแต่ละปีมีมาก จึงพยายามส่งเสริมเรื่องนี้”
อย่างไรก็ตามระบบของเฟซบุ๊กที่ทำให้ยอดมองเห็นเพจลดลงจนทำให้ต้อง “จ่ายเงินเพิ่มการมองเห็นในกระทู้ที่สำคัญ อาจจะเดือนละครั้ง” อาจารย์กิตติชัยยังบอกว่าในอนาคตอาจมีการต่อยอดโดย
“ผมอาจหันมาเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับผู้ทุพพลภาพหรือเยาวชน แต่ตอนนี้ต้องดูผลของโครงการปัจจุบันเสียก่อน สำหรับผม แค่ทำให้วัยรุ่นสนใจสถานที่ทางวัฒนธรรมก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะพวกเขาอาจไปค้นหาข้อมูลต่อว่าสถานที่นั้นสำคัญอย่างไรในอนาคต”
“นมเย็น” วิ่งภูเขาทอง กรุงเทพฯ
“นมเย็น” ที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ
เรื่องของ “ไอ้แมงมุม”
ขณะที่เพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” เกิดจากงานวิจัย ในทางกลับกันเพจ “ไอ้แมงมุม” กำเนิดจากความชอบของผู้สร้างล้วน ๆ
แอดมินเพจคือ อุดมศักดิ์ โปร่งอากาศ หรือ “หนึ่ง” เล่าว่างานหลักของเขาคือรับราชการทหาร ส่วนการนำ “ไอ้แมงมุม” มาถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกที่เขารัก
“ผมดูภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man (ไอ้แมงมุม) ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ ดารานำแสดงตอนนั้นคือ โทบีย์ แมกไกวร์ (Tobey Maguire) สไปเดอร์แมนต่างกับฮีโร่อื่น เขาเหาะไม่ได้ ต้องยิงใยแมงมุมแล้วโหนตัวไปตามตึกสูง ชีวิตจริงลำบาก แต่ก็คอยช่วยเหลือคนอื่น ผมประทับใจคติที่ว่า ‘พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่’ ในหนังเรื่องนี้”
หนึ่งจึงเริ่มเก็บสะสมตุ๊กตาสไปเดอร์แมน “ตัวแรกซื้อจากร้านขายของชำราคา ๑๐๐ กว่าบาท หลังจากนั้นก็ซื้อจากตลาดนัด ห้างเมก้าพลาซ่า (แถวสะพานเหล็ก) และตลาดคลองถมในคืนวันเสาร์”
แต่กว่าเขาจะเริ่มนำมาถ่ายภาพและสร้างเฟซบุ๊กแฟนเพจก็ล่วงเข้าสู่เดือนกันยายน ๒๐๑๗ “ผมเอามาถ่ายกับลูกสุนัขในบ้านแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ปรากฏว่าคนชอบมาก เลยถ่ายอีกเรื่อย ๆ ในที่สุดก็มีคนเสนอให้เปิดแฟนเพจ เพจ ‘ไอ้แมงมุม’ จึงเกิดขึ้น”
จุดเด่นของ “ไอ้แมงมุม” คือนำสไปเดอร์แมนมาแต่งองค์ทรงเครื่องแบบคนไทย มีองค์ประกอบภาพที่ชัดเจนว่าคือประเทศไทย ไอ้แมงมุมจะมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขและแมวที่กลายเป็นสัตว์พาหนะขนาดยักษ์
หนึ่งเล่าว่าเทคนิคถ่ายภาพคือหากแมวหรือสุนัขหลับเขาจะจัดท่าของสไปเดอร์แมนให้เข้ากับอิริยาบถนั้น นำไปวางแล้วถ่ายภาพ ถ้าตื่นอยู่ก็อาจต้องใช้เทคนิคซ้อนภาพ
“ถ่ายสองภาพแล้วเอามารวมกันในโปรแกรมโฟโต้ช็อป
“ปัจจัยหลักคือต้องดูอารมณ์ของสุนัขและแมวให้ดี บ้านผมมีแมวตัวเดียว ภาพที่เห็นส่วนมากในเพจแมวกับสุนัขเป็นของเพื่อน ชุดของสไปเดอร์แมนที่เห็นในภาพก็มีแฟนเพจส่งมาให้ฟรี ฟิกเกอร์หลายตัวก็มาจากบริษัท Beast Kingdom ที่ให้การสนับสนุนผม”
ดังนั้นการโลดแล่นของสไปเดอร์แมนจึงได้รับแรงสนับสนุนจากแฟนเพจด้วย
“วาระ” ของหุ่นจิ๋ว
แอดมินเพจอย่างอาจารย์กิตติชัยและอุดมศักดิ์ให้คำตอบคล้ายกันว่าพวกเขาต่างมี “วาระ” เป็นของตัวเองในการนำเสนอภาพของหุ่นจิ๋ว
สำหรับอาจารย์กิตติชัย เพจ “Big Bangkok กรุงเทพเมืองใหญ่” ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับวัยรุ่น โดยผลพลอยได้คือ “ผมได้เที่ยว ได้นำเสนอความคิดในนิตยสาร เห็นโลกที่ไม่เคยเห็น ทำให้ตัวเราเล็กลง” และตั้งใจว่าในอนาคตจะนำเสนอภาพที่มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น
ส่วนอุดมศักดิ์บอกว่าเพจ “ไอ้แมงมุม” ต้องการสร้างความสุขให้คนดู “แฟนเพจแต่ละคนชอบสไปเดอร์-แมนในอิริยาบถต่างกัน อนาคตผมอาจเพิ่มแง่คิด คำคม เรื่องขำขันลงไปในภาพ อาจทำวิดีโอหรือหาโอกาสทำกิจกรรมกับแฟนเพจ การที่คนอื่นรักสิ่งที่เรารัก ผมมองเป็นความสุขและความสำเร็จ และผมอยากขอบคุณแฟนเพจที่ติดตามมาตลอด”
แต่เรื่องหนึ่งที่ทั้งสองคนไม่ต่างกันคือนี่คืองานที่พวกเขารักนั่นเอง