Image

ศันสนีย์ ดีกระจ่าง
เส้นทางสู่อาชีพ Botanical Illustrator 
นักวาดภาพพฤกษศาสตร์ระดับโลก

INTERVIEW

สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

“เราจำกัดความตัวเองว่าไม่ใช่ศิลปิน เป็นนักเล่าเรื่องมากกว่าหน้าที่ของนักวาดภาพพฤกษศาสตร์คือบอกเล่า เรื่องราวของสปีชีส์และต้นไม้ โดยใช้ฝีมือวาดภาพของเรา”

ศันสนีย์ ดีกระจ่าง หรือแอน จบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา สาขาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังเรียนจบเข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งและลาออกมา

ด้วยความสนใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับสรรพชีวิต ไม่ว่าดอกไม้ ใบไม้ ใบหญ้า พืชพรรณนานาตามประสาคนที่เติบโตมาแถบบ้านสวนสมุทรสาคร  ในปี ๒๕๕๓ เธอตัดสินใจทิ้งงานประจำแล้วทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจมากที่สุดคือการวาดภาพพฤกษศาสตร์

ศันสนีย์มองหาโอกาสด้วยการค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เข้าร่วมนิทรรศการและงานประกวดในต่างประเทศ แม้ช่วงแรกจะมีอุปสรรคด้านภาษา ต้องให้เพื่อนช่วยแปลใบสมัครให้ แต่หลังจากฝึกฝนเพิ่มเติมทั้งภาษาและเทคนิคการวาดภาพก็เริ่มส่งผลงานไปตามเวทีต่าง ๆ

ในปี ๒๕๕๕ ศันสนีย์ส่งผลงานไปที่ Focus on Nature นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้รับการตอบรับเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงส่งไปอีกสามรายการติดต่อกัน ได้แก่ The Royal Horticultural Society (RHS) สหราชอาณาจักร, Margaret Flockton Award ออสเตรเลีย และ The Royal Botanic Garden Edinburgh (RBGE) สกอตแลนด์ และคว้ารางวัลเหรียญเงินจาก RHS และ RBGE จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ  ภาพวาดซึ่งจัดแสดงที่ Margaret Flockton Award ในปีนั้น ยังทำให้ได้พบกับผู้ว่าจ้างงานเขียนภาพครั้งแรก ช่วยสร้างขวัญกำลังใจและกรุยทางให้เธอได้รับงานเขียนภาพเพื่อประกอบงานวิจัยของนักพฤกษศาสตร์ต่างชาติ ได้ค่าตอบแทนมากพอเป็นทุนก้าวต่อในเส้นทางที่ฝัน จนตัดสินใจไปปักหลักทำงานวาดภาพอย่างจริงจังที่สกอตแลนด์

ศันสนีย์เล่าว่าหลังเข้าร่วมเวทีแรกก็เข้ารอบจัดแสดงและได้รับรางวัลต่าง ๆ มาตลอด  ในปี ๒๕๕๙ สมาคมพฤกษศาสตร์แห่งประเทศอังกฤษ หรือ RHS กำหนด หัวข้อ “Tropical Climate Plants” เธอส่งผลงานเข้าร่วมอีกครั้ง และคว้ารางวัลเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ

แม้ชีวิตนักวาดภาพพฤกษศาสตร์ในต่างแดนจะมีเรื่องต้องต่อสู้ฟันฝ่ามากมาย รายได้ก็ไม่มากถึงขั้นทำให้ใครเป็นเศรษฐี และไม่ได้รับประกันว่าจะมีงานต่อเนื่องบางครั้งต้องรับงานเสริม เช่น เปิดสอนวาดภาพ แต่เธอยังยืนยันในอาชีพที่ตัวเองรัก มุ่งมั่นทำงานอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนักวาดภาพพฤกษศาสตร์หญิงไทยที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพผลงานระดับโลก

Image

Pinus merkusii jungh. & de Vriese

ช่วยบอกความแตกต่างของภาพวาดทั่วไปกับภาพวาดพฤกษศาสตร์

ภาพวาดทั่วไปของต้นไม้อาจมีผล ลูก ใบสวยงามแต่ภาพวาดพฤกษศาสตร์จะอธิบายหลักการต่าง ๆ ทางพฤกษศาสตร์ เช่น การงอก การผลิใบ  ยกตัวอย่างต้นสนสองใบ (Pinus merkusii) ผลทั้งสองผลที่วาดตรงมุมขวาล่างบ่งบอกว่าเวลาโดนน้ำหรือไอเค็มจากทะเลฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ผลจะบีบรัดเพื่อรักษาเมล็ดไว้ แต่พออากาศแห้งจะกางออกเพื่อปล่อยเมล็ดที่เหมือนปีกแมลงปอให้ปลิวไปขยายพันธุ์

ภาพวาดพฤกษศาสตร์จะอธิบายว่าลักษณะของผลเป็นอย่างไร งอกแล้วเป็นแบบไหน  หรือแม้แต่ลักษณะลำต้นที่ขึ้นอยู่บริเวณเนินเขาค่อนข้างเหยียดตรง ก็ถือเป็นบันทึกทางพฤกษศาสตร์อย่างหนึ่งว่า ต้นนี้ขึ้นอยู่ตำแหน่งใด ซึ่งวันข้างหน้าอาจสาบสูญจากไฟป่า ภาวะโลกร้อน หรือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่ภาพวาดพฤกษศาสตร์จะอธิบายได้ว่าต้นนี้เคยเป็นอยู่อย่างไร

Image

0