ดงกล้วยป่ากระบุรี (Musa acuminata kraburiensis) มักขึ้นบริเวณเปิดโล่ง เช่น ริมถนน หรือริมลำน้ำ เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย และเป็นกล้วยป่าชนิดย่อยใหม่ที่เพิ่งค้นพบ กระจายพันธุ์เฉพาะบริเวณคอคอดกระในจังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานีเท่านั้น
ภาพวาดสีน้ำโดย ณรงค์ศักดิ์ สุกแก้วมณี
ศิลป์สานวิทย์
เส้นทางชีวิตการทำงานศิลป์
ในโลกพฤกษศาสตร์
ของ ณรงค์ศักดิ์ สุกแก้วมณี
พฤกษศิลป์
พฤกษศิลปิน
เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ต้นกล้วยนานาพันธุ์ถูกบรรจงสร้างสรรค์แต่งแต้มสีลงบนกระดาษขาวตามต้นแบบกล้วยในธรรมชาติทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ภาพบางส่วนเรียงรายอยู่บนโต๊ะ ไม่ก็วางพิงผนังห้องเสมือนการกระจายพันธุ์ของกล้วยในป่าใหญ่ ห้อมล้อมโต๊ะทำงานสีดำที่อยู่มุมในสุดของห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในอาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้าน-จอมบึง ท่ามกลางทิวเขาและผืนป่าของจังหวัดราชบุรี
กล้วยแต่ละภาพล้วนแสดงรายละเอียดผ่านความตั้งใจของ ก้อง-ณรงค์ศักดิ์ สุกแก้วมณี ที่คนในแวดวงภาพวาดพฤกษศาสตร์รู้จักในฐานะผู้ชำนาญการวาดกล้วย รวมถึงเป็นอาจารย์สอนศิลป์ผู้สานวิทย์ ถ่ายทอดแนวคิดทางพฤกษศิลป์แก่ลูกศิษย์วัยหนุ่มสาว
พู่กันแต้มสีจดกระดาษวาดเป็นภาพกล้วย คือสิ่งที่ก้องทำเป็นประจำอยู่ภายในห้องทำงาน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ทางศิลป์ที่เคยสร้าง
ก้องเริ่มวาดภาพจริงจังตั้งแต่เป็นนักเรียนสายอาชีพระดับ ปวช. คณะศิลปกรรม ที่บ้านเกิดจังหวัดสงขลา จากนั้นได้โควตาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาวาดภาพพฤกษศาสตร์ (botanical illustration) เต็มตัวเมื่อมาทำงานวิจัยกล้วยไทยหลังเรียนจบปริญญาตรี
แฟ้มสะสมผลงานและวิทยานิพนธ์เล่มดำปั๊มหน้าปกเป็นตัวอักษรสีทองสมัยที่ก้องใช้ส่งอาจารย์ตอนจบการศึกษาที่เขาเดินไปหยิบจากตู้ไม้กรุกระจกกลางห้องทำงาน เผยว่างานศิลป์แต่แรกไม่ใช่อย่างที่เขาทำในปัจจุบัน เพราะมีแต่ภาพกล้วยไม้นานาที่รังสรรค์ผ่านจินตนาการผสานอารมณ์ของตัวเองด้วยเทคนิคศิลป์ร่วมสมัย (contemporary) จนเป็นฉากธรรมชาติที่ไม่มีอยู่จริง
“เราชอบธรรมชาติ โดยเฉพาะกล้วยไม้ เลยวาดภาพแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา” ก้องเอ่ยถึงงานช่วงแรก ๆ
ซึ่งเขามีแรงบันดาลใจจากพื้นฐานของครอบครัวที่ชอบปลูกต้นไม้ รักธรรมชาติและการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ
ภาพวาดลายเส้นของกล้วยป่ากระบุรี แสดงลักษณะพืชล้มลุกที่มีลำต้นเทียมสูงได้ถึง ๒-๓ เมตร และส่วนต่าง ๆ ของกล้วย เช่น ฐานใบ ก้านเครือ ก้านปลี ปลี ผล กล้วยป่ากระบุรีเป็นเครือญาติบรรพบุรุษของกล้วยพันธุ์ปลูกไม่มีเมล็ดเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในผลไม้ยอดนิยมทั่วโลก กล้วยป่าจึงเป็นแหล่งพันธุกรรมสำคัญเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต ภาพนี้ได้ร่วมแสดงในงาน Botanical Art Worldwide 2025
วาดกล้วย ไม่กล้วย
จบการศึกษาจากเพาะช่างช่วงปี ๒๕๔๗ ก้องมีโอกาสติดสอยห้อยตามพี่ชายซึ่งเรียนสายพฤกษศาสตร์ไปอบรมเรื่องภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำพาให้เขาเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปูเป้-ผศ.ดร. ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล บุคคลสำคัญที่ทำงานด้านภาพวาดพฤกษศาสตร์ของไทยและผู้ก่อตั้งเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ (Sci-Art Network) หลังจากได้ยินชื่อเสียงของอาจารย์อย่างไม่เป็นทางการหลายครั้ง