Cocktail
กับ “แผ่นเสียง”
ปัณฑพล ประสารราชกิจ (โอม)
PEOPLE WITH VINYL
แผ่นเสียงที่ยังมีชีวิต
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ถ้าจะให้จัดอันดับวงร็อกไทยสักวงหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
หนึ่งในนั้นย่อมจะมีวง Cocktail รวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในจำนวนอัลบัมเก้าชุดที่วางตลาด ถ้ามีใครสังเกตจะพบว่า
Cocktail เองก็ไม่พลาดที่จะออก “แผ่นเสียง” ควบคู่ไปกับการผลิตผลงานเพลงใน format อื่น ๆ ด้วย
โอม Cocktail บอกกับเราว่า เหตุผลที่วงผลิตแผ่นเสียง นอกเหนือจากเหตุผลด้านการตลาด
อีกส่วนหนึ่งคือ “ความอยากเก็บ” ล้วน ๆ
วง Cocktail เริ่มต้นจากวงดนตรีสองวงของนักเรียนชั้น ม. ๖ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ต.อ.) ทำดนตรีแล้วนำเพลงมารวมกันเป็นอัลบัมชื่อ Cocktail ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๕ ก่อนนำไปวางจำหน่าย ต่อมา ปัณฑพล ประสารราชกิจ (โอม) นำชื่ออัลบัมมาใช้เป็นชื่อวงดนตรีที่เขาทำหน้าที่นักร้องนำ Cocktail ก้าวสู่วงการดนตรีอาชีพ เมื่อเซ็นสัญญากับแกรมมี่ เข้าสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด (ปี ๒๕๕๓-๒๕๖๔) ต่อมาสังกัดยีนแลป (ปี ๒๕๖๔-ปัจจุบัน) ออกอัลบัมมาแล้วเก้าชุด ประสบความสำเร็จในฐานะวงดนตรีร็อกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวงหนึ่งในเมืองไทย และเพิ่งประกาศจะยุติการเล่นดนตรีเป็นอาชีพสิ้นปี ๒๕๖๘
Cocktail เริ่มทำแผ่นเสียงมาตั้งแต่เมื่อไร และทำไมตัดสินใจทำแผ่นเสียง
แกรมมี่เป็นผู้ผลิตครับ เขาถือสิทธิ์ในงานเพลง Cocktail ดังนั้นก็ต้องทำให้เกิดรายได้ เมื่อแผ่นเสียง (vinyl) กลับมาอินเทรนด์ แกรมมี่ก็ถามว่าถ้าจะผลิต Cocktail โอเคหรือไม่ เราตกลงเพราะทางวงเองก็ชอบเห็นงานอยู่ใน format (รูปแบบ) หลากหลาย ไม่ได้คิดว่าจะมีคนซื้อหรือไม่ พูดตรง ๆ คิดอย่างแรกคือเราอยากเก็บ อยากได้ (หัวเราะ) แต่พอต้องทำก็กังวลเหมือนกัน แม้ผมจะมีความรู้เรื่องแผ่นเสียงระดับหนึ่งแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญ เลยเกิดคำถามขึ้นคือ ระบบบันทึกเสียง (recording) รวมถึงการ mastering (ทำให้เพลงมีคุณภาพใน format นั้น) ของเรา เหมาะแก่การทำแผ่นเสียงแค่ไหน เราไม่อยากเพียงแค่ทำ หรืออัดเสียงลงร่องแผ่นเสียง แต่ต้องมีคุณภาพด้วย อัลบัมที่เรานำมาผลิตแผ่นเสียงครั้งแรกน่าจะเป็น The Lords of Misery (ปี ๒๕๕๗) ซึ่งอ่านด้วยความเร็ว 33 RPM ก่อนจะผลิตแบบ 45 RPM ภายหลัง
เราทำ (แผ่นเสียง) เพราะชอบเห็นงานอยู่ใน format (รูปแบบ) หลากหลาย