โรงหมี่พิมายของยายเติ้บสว่างไสวทุกค่ำคืนในยามที่คนหลับใหล
เสน่ห์ไม่สูญหาย
หมี่พิมายทำมือ
วัฒนธรรม "เส้น"
เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เวลาตี ๑ ที่หลายคนหลับใหลในฝันหวาน แต่ยายเติ้บ-สายทอง ใจดี กำลังเริ่มทำงาน โดยสาละวนกับการก่อฟืนไฟเตรียมเตาให้พร้อมทำ “หมี่พิมาย”
ราว ๖๐-๗๐ ปีที่ยายเติ้บตื่นนอนกลางดึกโดยอัตโนมัติตามกิจวัตรคนทำหมี่แห่งเมืองพิมาย เสียงเป๊าะแป๊ะจากไฟกินฟืนเป็นเหมือนเครื่องกำหนดเวลาให้หญิงชราเร่งมือซาวข้าวแข็งขัน ก่อนจะรีบโกยใส่เครื่องโม่ไฟฟ้าอันเป็นเครื่องทุ่นแรงเดียวในกระบวนการทำหมี่ที่ช่วยให้ร่างกายในวัย ๗๔ ปีไม่เหนื่อยเกินไป... ในพริบตา ข้าว ๑ ถัง (ประมาณ ๑๕ กิโลกรัม) ก็ถูกบดละเอียดจนเป็นน้ำแป้งสีขาวข้น
“ยายทำมาตั้งแต่จำความได้ ทวดจะปลุกกลางดึกให้มาช่วยทำ ไม่เคยถาม ไม่มีสูตร อาศัยครูพักลักจำ เริ่มจากการช่วยโม่แป้ง สมัยนั้นยังต้องโม่ด้วยมือ ตักข้าวตามด้วยน้ำทีละทัพพี ตอนนี้มานั่งทำแบบนั้นคงไม่ไหวและไม่ทันกิน ก็เลยต้องมีเครื่องช่วย”
ยายเติ้บพูดพลางยกถังน้ำแป้งจัดแจงวางให้อยู่ในตำแหน่งถนัดมือ แล้วนั่งลงบนเก้าอี้ประจำหน้าเตาหมี่
ครอบครัวของยายเติ้บทำหมี่พิมายต่อเนื่องมาสามชั่วอายุคน ถือเป็นบ้านแรก ๆ ที่ริเริ่มทำหมี่ในชุมชนตะวันตกวัดเดิม ติดกับอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะแพร่หลายเป็นอาชีพที่นิยมเกือบทุกครัวเรือน แต่เนื่องด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ทางเลือกของการทำงานที่มากขึ้น ประกอบกับการเข้ามาของโรงหมี่อุตสาหกรรม หมี่ทำมือตามครัวเรือนจึงล้มหายตายจากเหลือเพียงโรงหมี่ของยายเติ้บที่ยังคงก่อเตาหมี่สว่างไสวในไฟสลัวของทุกค่ำคืน
ข้าวที่ซาวจนสะอาดแล้วจะนำใส่เครื่องโม่ไฟฟ้าเพื่อบดละเอียดเป็นน้ำแป้งสีขาวข้น