Image

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยแบรนด์ต่าง ๆ วางโชว์อยู่ในร้าน GOOD NOODLE ชั้นใต้ดิน ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ร้านสะดวกซื้อสำหรับคอบะหมี่กึ่งฯ โดยเฉพาะ ซึ่งจัดเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกในการปรุงและสถานที่รับประทานที่สะดวกสบายไว้ครบครัน

“เส้น” ๓ นาที
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับสังคมไทย

วัฒนธรรม "เส้น"

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“คนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงอันดับ ๓ ของโลก แบรนด์แข่งดุจากสินค้าราคาถูก สู่รสชาติพรีเมียม”
Thairath Money, ๘ มีนาคม ๒๕๖๗

“คนไทยประหยัด ดันยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตร้อยละ ๑๒”
สำนักข่าวไทย, ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕

“มาม่า สินค้าไทย ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ”
นิตยสาร Positioning, ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙

ในระหว่างค้นข่าวย้อนหลังเกี่ยวกับ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ผมสะดุดตากับพาดหัวข่าวสองสามชิ้นที่บอกถึง “สถานะ” ที่แตกต่างกันในสังคมไทย

ย้อนกลับไปราว ๒๐ ปี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาไม่เกินซองละ ๔ บาท ซึ่งทำง่าย เพียงแช่เส้นในน้ำร้อน ๓ นาที ฉีกซองเครื่องปรุงโรยใส่ ก็รับประทานได้แล้ว ที่สำคัญคืออิ่มท้องพอสมควร มันจึงกลายเป็น “อาหารคนจน” “อาหารยามยาก” และตามที่พาดหัวข่าวคือเป็น “ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ”

พูดง่าย ๆ ว่า ปีไหนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดี แปลว่าปีนั้นประชาชนมีเงินในกระเป๋าตังค์ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าปีไหนยอดขายตก แปลว่าประชาชนมีเงินใช้มากขึ้น และซื้ออาหารปรุงสดมากกว่าอาหารสำเร็จรูป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นสินค้าประเภทเดียวกับไข่ไก่ น้ำมันพืช ฯลฯ ที่ส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรงหากเปลี่ยนแปลงราคา

แต่ในปี ๒๕๖๘ ดูเหมือนความหมายนี้จะใช้ไม่ได้แล้ว ด้วยผู้ผลิตหลายรายสลัดภาพลักษณ์อาหารคนจนอัปเกรดผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าพรีเมียม และประยุกต์ไปทำอาหารหลายประเภท

การเดินทางของ “เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราน่าติดตาม

Image

บรรยากาศในร้าน GOOD NOODLE

Image

พันธ์ พะเนียงเวทย์
ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)

“อยากให้ ‘มาม่า’ เป็นบะหมี่กึ่งฯ ของคนทุกเจเนอเรชัน”

ในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ การรับช่วงต่อจากรุ่นบุกเบิกยากแค่ไหน

มาม่าเป็นบริษัทมหาชน เข้าตลาดหุ้น คุณพ่อ (พิพัฒ พะเนียงเวทย์) ทำงานกับนายห้างเทียม (ดร. เทียม โชควัฒนา) ปูพื้นฐานไว้ดีมาก เขามีเงิน มีตลาด สินค้ามีคุณภาพ เตรียมไว้แล้ว ผมเป็นรุ่นที่ ๒ ก็ปรับเปลี่ยนได้มากเพราะไม่มีอะไรน่ากังวล รุ่นก่อนทำไว้ขนาดนี้ถ้าทำไม่ดีคงต้องตีมือตัวเอง มาม่าเป็นคำติดปากก็จริง แต่มีหลายแบรนด์ที่มีสถานะนี้แล้วหายไป ไม่ได้ประกันว่าเราไม่ต้องทำอะไรแล้ว เราต้องสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องว่าเรายังมีคุณภาพอยู่  มีประโยคกล่าวว่าการรักษาแชมป์ยาก ก็เป็นจริง ผมเข้ามาปี ๒๕๔๒ มาม่ามีส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งฯ ในประเทศมากที่สุด แต่โลกก็กำลังเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องปรับเอง ไม่อย่างนั้นโลกจะเข้ามาเปลี่ยนเรา

Image

0