Image

ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง อดีตวิศวกรเคมีที่ผันตัวจากห้องแล็บสู่วิถีเกษตรกรเป็น “คนเลี้ยงผำ” คนแรกของจันทบุรี

บะหมี่ผำ อาหารแห่งอนาคต
นวัตกรรมทางอาหาร
ของหนุ่มวิศวกรเมืองจันท์

วัฒนธรรม "เส้น"

เรื่อง : ธเนศ แสงทองศรีกมล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 

ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็กเคยปั่นจักรยานผ่านบึงแถวบ้านที่อีสาน เห็นผิวน้ำปกคลุมด้วยพืชสีเขียวอ่อนเรียงต่อกันเป็นแพจนเต็มทั่วพื้นน้ำ ด้วยประสบการณ์การดูหนัง โคตรไอ้เคี่ยม จระเข้จอมโหดที่ไล่ล่ามนุษย์ ก็พลางคิดว่าใต้ผืนน้ำนั้นคงเต็มไปด้วยเจ้านักล่าปากยาวเป็นแน่

ทว่านั่นเป็นเพียงจินตนาการของเด็กตัวน้อย ต่อมาจึงได้รู้ว่าสิ่งที่มองเห็นเป็นแพสีเขียวนั้นคือ “ผำ” พืชน้ำแสนมหัศจรรย์ที่จะกลายมาเป็น “อาหารแห่งอนาคต” ของประชากรทั่วทั้งโลก

Image

Image

ณัฐวุฒิใช้ระบบสวนแนวตั้ง (vertical farming) เพื่อเพิ่มผลผลิตผำให้มากขึ้นแม้จะมีพื้นที่เท่าเดิม

ผำ หรือไข่ผำ (Wolffia) จัดอยู่ในพืชวงศ์แหน (Lemnaceae) หรือพืชประเภทที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ มิลลิเมตร ลอยติดกันเป็นแพ พบมากในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  เจ้าเม็ดกลมจิ๋วสีเขียวสดนี้อุดมด้วยโปรตีนในระดับสูง อีกทั้งยังประกอบด้วยสารอาหารมากมาย เช่น บีตาแคโรทีน กรดอะมิโน สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

“ตอนแรกพี่งงมากนะ เพราะภาคตะวันออกเป็นเมืองไม้ผล ใครเขาจะเลี้ยงผำ” หญิงสาวร่างเล็กบ่นออกรสราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อวาน

อรุณี แท่งทอง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ประจำการอยู่เขตที่ ๖ ซึ่งดูแลครอบคลุมทั้งเจ็ดจังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ตราด และจันทบุรี เล่าว่าเมื่อประมาณปี ๒๕๖๔ กรมวิชาการเกษตรเล็งเห็นศักยภาพของผำ จึงร่างโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาและยกระดับผำขึ้น โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๑-๘ เสาะแสวงหาว่ามีเกษตรกรที่ใดบ้างที่กำลังเพาะเลี้ยงพืชชนิดนี้อยู่

หลังจากสืบเสาะอยู่นานอรุณีก็ได้ความว่าในพื้นที่รับผิดชอบมีผู้เลี้ยงผำอยู่ ๑๙ ราย อยู่ที่ชลบุรีกับระยองมากที่สุด ส่วนจังหวัดบ้านเกิดของเธอคือจันทบุรี มีชายหนุ่มเพียงคนเดียวที่เลี้ยงผำ

Image

0