EP. 01
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว
* ภาพเก่าและของใช้ส่วนตัวจำนวนหนึ่งที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้
ได้รับความอนุเคราะห์จากทหารผ่านศึกหลายท่าน
ช้างสามเศียรใต้เศวตฉัตรบนพื้นสีแดง
เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอาณาจักรลาว
(ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๗๕)
รัฐซึ่งหายไปจากแผนที่การเมืองโลก
เมื่อเปลี่ยนระบอบเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตย
ประชาชนลาว” (สปป.ลาว)
ใน ค.ศ. ๑๙๗๕
ในโลกยุค “สงครามเย็น ๒.๐” บทบาทของไทยในยุคสงครามเย็น ๑.๐ เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรทบทวนอีกครั้ง
สมัยเรียนชั้น ป. 2 เมื่อครูให้ระบายสี “แผนที่ประเทศไทย” ผมจำได้ว่าในสมุดระบายสีนั้นเขียนชื่อประเทศรอบด้ามขวานทองเอาไว้เสร็จสรรพ
ด้านทิศตะวันออกเลยแม่น้ำโขงเขียนว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)”
เลยขึ้นไปเกือบถึงขอบกระดาษด้านขวาเขียน “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม”
ยังไม่นับข้างล่างเขียนว่า “กัมพูชาประชาธิปไตย” (ภายหลังทราบว่านั่นคือระบอบเขมรแดง)
คิดแบบเด็ก ๆ ขณะนั้นผมรู้สึกว่าชื่อพวกนี้ยาวและเข้าใจยาก แต่ก็มารู้ตอนโตที่อ่านข่าวต่างประเทศมากขึ้นว่า ชื่อเหล่านั้นบอกอะไรมากมาย
เช่น ประโยค “ประชาธิปไตยประชาชน” และ “สังคมนิยม” บ่งถึงระบบการเมืองการปกครอง
อธิบายย่นย่อคือ ระบอบนี้แม้มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา แต่แหล่งที่มาของอำนาจทั้งหมดมาจากพรรคการเมืองที่มีพรรคเดียว และการผูกขาดเช่นนี้ชอบธรรมเพราะเป็น “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ”
ทำไมเราจึงมีเพื่อนบ้านที่ใช้ “ระบอบคอมมิวนิสต์” ถึงสองประเทศ (สปป.ลาว, เวียดนาม) อยู่ติดเรา ? และทำไมกัมพูชาจึงกลายเป็น “ราชอาณาจักรกัมพูชา” ที่มีระบบการเมืองเหมือนไทย ?
ปัจจุบันเรามีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีกับสามประเทศนี้ แต่เรื่องหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ ไทยมีอดีต “ทั้งรัก-ทั้งชัง” กับเพื่อนบ้านทางด้านทิศตะวันออกมาตลอด
หนึ่งใน “อดีต” ที่ว่าเป็นเหตุการณ์ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950-1970
โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น (Cold War) มีชาติมหาอำนาจสองขั้ว คือ สหรัฐอเมริกา (โลกเสรี) กับสหภาพโซเวียต (คอมมิวนิสต์) เผชิญหน้ากันในหลายพื้นที่ทั่วโลก (เพื่อแผ่ขยายอำนาจและปกป้องเขตอิทธิพล) ซึ่งส่วนหนึ่งกลายเป็นสงครามตัวแทนที่รบกันด้วยอาวุธ (Proxy War/Hot War)
สปป.ลาว คือหนึ่งใน “เวทีสงครามร้อน” ซึ่งรบกันรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง และไทยก็มีส่วนร่วมในฐานะชาติที่ส่งทหาร (แบบลับ ๆ) ไปรบเพื่อสนับสนุนฝ่ายขวา/ฝ่ายเป็นกลาง (โลกเสรี) สู้กับฝ่ายซ้าย (คอมมิวนิสต์) ที่ช่วงชิงกันขึ้นมามีอำนาจในลาว
ท้ายที่สุดเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัย ไทยก็มี “ประวัติศาสตร์บาดแผล” กับ “ฝ่ายชนะ” ที่เป็นรัฐบาลในดินแดนลาวและเวียดนามมาจนทุกวันนี้
ทว่าความรับรู้ดังกล่าวถูก “ปิดลับ” ในฐานะ “สงครามลับ” มานานกว่า 50 ปี
อย่างน้อยก็ตั้งแต่วันที่ทหารไทยคนสุดท้ายขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับจากสมรภูมิลาว
ค.ศ. ๑๙๗๕,
ทำเนียบรัฐบาล
กรุงเทพฯ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี มีอารมณ์ไม่สู้ดีนัก ตอบคำถามนักข่าวด้วยน้ำเสียงประชดจนหนังสือพิมพ์เขียนว่ามีหางเสียง “ฮึ” ติดอยู่ตลอดเวลา (เดลินิวส์, ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๘/ค.ศ. ๑๙๗๕)
สาเหตุที่นายกฯ อารมณ์บูด ก็เนื่องจากนับเป็นเวลา ๑๐ วันมาแล้วที่กรณีพิพาทระหว่างหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง (นปข.) กับกองกำลังของลาว (อีกฝั่งน้ำ) ยังไม่จบ ยังไม่นับการประท้วงรายวันในประเทศ ปัญหาร้อยแปดที่ “รัฐบาลประชาธิปไตย” ชุดที่ ๒ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖/ค.ศ. ๑๙๗๓ ต้องเผชิญ
สงครามเย็นคือภาวะตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจสองขั้วที่ไม่ได้ทำสงครามขนาดใหญ่ต่อกันโดยตรง แต่ทำ “สงครามตัวแทน/สงครามร้อน (Proxy War/Hot War)” ที่รบกันจริงเฉพาะพื้นที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าสีสะหว่างวง กับ มีแชล เบรออาล (Michel Breal) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำพระราชอาณาจักรลาว ค.ศ. ๑๙๕๔
ภาพ : หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สปป.ลาว