Image

เสื้อแจ็กเกตทหารของเฉลียว เสหิน อดีตเสือพรานไทยที่ผ่านสมรภูมิลาวเก็บรักษาไว้อย่างดีในบ้านของเจ้าของ

INTERVIEW

เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

ในช่วงที่ สารคดี เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ “สงครามลับในลาว” สิ่งหนึ่งที่เราตระหนักได้คือ นี่เป็น “สงครามลับ” สมชื่อ

ปากคำของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ “ความทรงจำ
ส่วนบุคคล” ไม่ว่าบันทึก หนังสือ อยู่ในสภาพกระจัดกระจายไม่ถูกรวบรวมหรือจัดระเบียบ

ข้อมูล “ทางการ” ยังคง “ปิดลับ” โดยเฉพาะในส่วนกองทัพ ทั้งไม่ปรากฏในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แม้เหตุการณ์ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษและตามหลักสากลควรถูก “ปลดชั้นความลับ (declassified)” แล้ว

หลักฐานบางส่วนอยู่ในสภาพ “ของสะสมส่วนบุคคล” ผลคือการตีความและใช้งานจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าถึง

เท่าที่ตอนนี้ทำได้ สารคดี พยายามรวบรวม “ปากคำ” ทหารผ่านศึก (ส่วนมากอยู่ในวัยชรา) ซึ่งแต่ละท่านมีอุดมคติ ความรับรู้ ประสบการณ์ การตีความต่อเหตุการณ์ในสมรภูมิที่พบเจอแตกต่างกัน โดยส่วนมากเป็นทหารที่ไปช่วงท้ายของสงคราม ก่อนที่ลาวสามฝ่ายเซ็นสัญญาสงบศึกใน ค.ศ. ๑๙๗๓

ดังนั้นพวกเขาส่วนมากจึงเป็น “ทหารเสือพราน” ซึ่งอาจถือเป็นคนไทยกลุ่มใหญ่สุดที่เข้าไปรบทัพจับศึกในลาว เมื่อเทียบกับทหารกลุ่มอื่นก่อนหน้า ภายใต้คำขอของรัฐไทยที่ขอให้พวกเขารบนอกบ้านเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว

เราพยายามทำให้เสียงของ “คนในเหตุการณ์” เหล่านี้ สื่อออกมาโดยไม่มีอุดมการณ์ใดเป็นกรอบ

ด้วย “ทหารผ่านศึก” ก็คือ “พลเมือง” ที่มีความรู้สึกนึกคิดของตัวเองไม่ต่างจากประชาชนคนอื่น

Image

Image

Image

ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

“สงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ คือออกไปดับไฟนอกบ้าน ยันข้าศึกนอกบ้าน ถ้ามันเข้ามาได้ก็เกิดไทยเหนือ ไทยใต้ ไทยอีสาน ไทยกลางแน่  ในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีทั้งพรรค แนวร่วม และกองกำลัง ซึ่งจะยึดภาคอีสานด้วยกำลังภายนอกประเทศคือเวียดกงที่จะผ่านลาวเข้ามา ถ้าเวียดกงยึดลาวได้ก็ถึงไทย เป็นไปตามทฤษฎีโดมิโนที่ลัทธิสังคมนิยมจะแผ่ขยาย พวกนี้อาศัยจังหวะที่รัฐบาลเป็นเผด็จการเข้ามาล้มล้าง แต่ถามว่าคอมมิวนิสต์เป็นเผด็จการหรือไม่ ผมว่าเป็นยิ่งกว่า

“ตอนนั้นกองพันทหารปืนใหญ่ ป. ๓๑ ต้องการทหารหนึ่งหมวดเพื่อป้องกันฐาน ก็มารับสมัครจากกรมทหารราบที่ ๓๑ จังหวัดลพบุรี ที่อยู่จังหวัดเดียวกัน ผมสมัครไปกับเพื่อน เรารู้ว่าสนามรบในลาวมีสามที่ คือ ทางเหนือที่เชียงลม ตอนกลางที่ล่องแจ้ง ทุ่งไหหิน ตอนใต้ที่ปากเซ จำได้ว่าเพื่อนไปดูหมอดู หมอดูบอกอย่าไปภาคใต้เพราะรบหนัก ผมเลือกไปทางใต้เพราะรบทั้งทีจะรบเบา ๆ ทำไม

“ในแง่สาธารณะ สงครามในลาวไม่ใช่ความลับ สมัยนั้นสงครามเวียดนามก็ดังอยู่แล้ว มีสงครามลาวคนก็ตามข่าว พอเปิดรับสมัครทหารคนก็ไปสมัคร อาสามาแต่ละคนคือ หนึ่ง โจรหลบหนีคดี ไม่ใช่คดียาเสพติดร้ายแรง เป็นพวกกัญชา คนดี ๆ ไม่มีใครอยากตายหรอกครับ โจรรู้นะครับ เราบอกว่าจะเจออะไร  ส่วนที่ ๒ คือพวกห้าว ทหารเกณฑ์ที่กำลังจะปลดประจำการ ผมเคยฝึกพวกเขาตอนเป็นทหารใหม่ ถามว่าใครอยากไปรบกับกูบ้าง ถ้าสมัครก็ฝึกกับกู เขาก็ถามหมวดไปเหรอ ผมไปด้วย

“สงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ 
คือออกไปดับไฟนอกบ้าน”

Image

Image

Image

“ เราไปยันเขาเอาไว้ได้ ”

“ตอนตัดสินใจไปรบไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง ผมเรียนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ที่อุดรธานี สาเหตุที่ไปลาวเพราะเจอทหารเสือพรานที่กลับมาพักผ่อนในอุดรธานี พกปืน ใส่ชุดทหาร เราชอบหนังสงครามก็ถามเขา เขาแนะนำให้ไปที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น  ผมกลับไปขอเงินแม่ที่กรุงเทพฯ ๑,๐๐๐ บาทแล้วไปที่ค่ายน้ำพอง (ปัจจุบันคือค่ายเปรมติณสูลานนท์) วันสมัครคือ ๒๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ ต้องวิ่งทดสอบร่างกายจากประตูค่ายเข้าไปในค่าย ใครทำได้เขารับหมด อายุไม่ใช่ปัญหา

Image

Image

ใบปลิวของฝ่ายขวาที่โปรยในเขตคอมมิวนิสต์เพื่อทำสงครามจิตวิทยา ของสะสมของคุณจงรักษ์

Image