Image

ศิลปะบนเบบี้บังเกอร์ของโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งได้รับการตกแต่งจากนักเรียนที่มีความสามารถด้านจิตรกรรมโดยได้รับคำแนะนำจากคุณครู บางลวดลายพบได้บนเสื้อผ้าของชนเผ่าในพื้นที่

แสงสว่างท่ามกลางความมืด
ของโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง

“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ

เรื่อง : ผณินทร เสียงเย็น
ภาพ : ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา

“พี่ชอบเล่นฟุตบอลมั้ยครับ” 

เด็กชายไว้ทรงผมสกินเฮด สวมเสื้อฮู้ดสีชมพู กางเกงวอร์มสีดำ รองเท้าแตะแบบคีบ สะพายย่ามสีเขียวสะดุดตา และมีร่มในมือ ถามขึ้นในขณะที่ผมก้มหน้าอยู่กับพื้นโคลนที่ต้องเดินอย่างระมัดระวัง พิจารณาดูจากทางที่ลาดชัน หากก้าวเท้าพลาดและลื่นล้ม สภาพของผมคงจะไม่ดีนัก

ไม่ได้เล่นฟุตบอล แต่เชียร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือคำตอบที่ผมบอก “วทัญญู” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ในวัย ๑๒ ปี ที่ขณะนี้เขาเดินช้าลงเพื่อรอ  เราเดินกันอยู่ในป่าบนภูเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหมอก ฝนตกปรอย ๆ เสียงแม่น้ำไหลผ่าน เสียงพูดคุยกันในภาษาที่ผมไม่เข้าใจระหว่างเพื่อนร่วมชั้นของวทัญญูที่เดินนำอยู่ไม่ไกล สลับกับเสียงฝีเท้าของพวกเราบนพื้นดินผสมโคลนสีแดงที่เดินไม่สะดวกสบายนัก อย่างน้อยก็คงสำหรับผม ไม่ใช่สำหรับวทัญญูและเพื่อน ๆ ของเขา

“ถึงบ้านผมแล้วครับพี่” ซอมูตอ เพื่อนร่วมชั้นของวทัญญูตะโกนบอก ก่อนจะชี้ไปที่บ้านหลังสุดท้ายในหมู่บ้าน ตัวบ้านยกสูงจากพื้นพอสมควร

“ขึ้นมาเลยครับ ผมจะชี้ให้ดู” ไม่รีรอ ซอมูตอปีนขึ้นไปบนเสาที่สูงเกือบถึงหลังคาบ้าน ก่อนจะชี้รูวงกลมขนาดเล็กตรงหลังคาสังกะสีที่มีอยู่ประมาณ ๓-๔ รู ไม่รวมกับที่อยู่รอบตัวบ้านอีกเกือบ ๑๐ รู

“โชคดีที่เศษระเบิดไม่มาตอนที่มีคนอยู่ในบ้านครับ”

ซอมูตอพูดขึ้นด้วยสีหน้าและแววตาใสซื่อ ก่อนลงจากเสาแล้วหันไปเล่นกับน้องชายตัวเล็ก ๆ และแมวสองตัวที่นอนอยู่ข้าง ๆ

Image

บ้านแม่สามแลบเป็นชุมชนสุดท้ายก่อนจะถึงบ้านท่าตาฝั่ง ในฤดูฝนเมฆหมอกปกคลุมเส้นทางตลอดทั้งเช้าและเย็น

Image

Image