นักปั่นจักรยานหยุดพักพูดคุยใต้ร่มเงาต้นไทรใหญ่ข้างศาลาริมทาง เป็นวิวทิวทัศน์ที่พบได้ระหว่างทางจากบึงพระชนกไปเกาะเทโพ
ภาพ : ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา
อยู่ดี ตายดี
ที่อุทัยธานี
Foto Essay
“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ
เรื่องและภาพ : เยาวชนค่ายสารคดี 19
ขอขอบคุณ : ถวิล พึ่งสุข, เสถียร แผ่วัฒนากุล,
ทพ. กฤตพล พรพิบูลย์, ปราโมช เลาหวรรณธนะ
และชุมชนชาวเมืองอุทัยธานีทุกคน
เมืองอุทัยธานีมีความพิเศษ ในความช้ามีเวลาให้หยุดพักและอยู่กับตัวเองมากขึ้น ในความเล็กมีความเป็นมิตรของผู้คนที่เชื่อมโยงกัน มีแม่น้ำสะแกกรังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวอุทัยธานี มีความยาว ๒๒๕ กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ลงมาถึงจังหวัดอุทัยธานี และไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เป็นเส้นแบ่งระหว่างเกาะเทโพที่เต็มไปด้วยพื้นที่เกษตรและธรรมชาติ กับฝั่งเมืองอุทัยธานีใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
“แม่น้ำสะแกกรัง” แม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากแม่น้ำทำการเกษตรและเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้ ปลาส่วนใหญ่ในตลาดเช้าเมืองอุทัยฯ ล้วนมาจากแม่น้ำสะแกกรัง ทั้งจากการเลี้ยงในกระชังและการตกปลา
ที่นี่เป็นแหล่งปลาแรดคุณภาพดี
ที่พ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่นเดินทางมาซื้อไปจำหน่ายต่อ “ที่นี่ฮวงจุ้ยดี ข้างหน้าเป็นน้ำ ข้างหลังเป็นภูเขา” หนึ่งในเกษตรกรชาวอุทัยฯ ให้ความเห็น
ภาพ : สุดารัตน์ จังโส
รดน้ำต้นเตยที่ปลูกในแม่น้ำสะแกกรัง วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนชาวแพแห่งแม่น้ำสะแกกรัง
ภาพ : สุดารัตน์ จังโส
สินธุ์ชัย พูลแก้ว ชายร่างกำยำที่เคยทำอาชีพทั้งทหารพรานและนักมวยที่มีชื่อเสียงในอดีต เขาเป็นหนึ่งในชาวแพที่อาศัยอยู่ในเรือนแพที่ทำด้วยไม้ทั้งหลัง มุงหลังคาสังกะสี มากกว่า ๔๐ ปี มีอาชีพประมงจับปลา ทั้งไว้กินเองและนำไปขายในตลาด “อยู่แบบพอเพียง” คือนิยามชีวิตที่ดีของสินธุ์ชัย
ภาพ : กฤษฎ์ ผ่องสุขสวัสดิ์