-

Image

-

Image

“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : กฤษฎ์ ผ่องสุขสวัสดิ์

เป็นความน่ากลัวและลำบากใจพอกัน ทั้งความตายและการต้องพูดถึงสิ่งนี้

แต่จะพูดหรือไม่พูดถึง จะเตรียมตัวหรือไม่เตรียมตัว ทุกคนก็ต้องตายอยู่ดี  จึงปรากฏคำชักชวนเชิงท้าทายจากนักปราชญ์พุทธศาสนาว่ามาเตรียมตัวตายกันดูไหม

การเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ หรือ “ไปดี” เคยเป็นค่านิยม หรือความตายในอุดมคติของไทยสมัยก่อน กระทั่งวิทยาการในการต่อต้านหรือยื้อความตายได้รับการคิดค้นพัฒนา ผู้คนแห่งยุคสมัยก็พากันตั้งหน้าสู้กับความตายทุกทาง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่พ้น

จึงเกิดข้อเสนอใหม่ให้เป็นทางเลือกในการเผชิญหน้ากับความตายด้วยใจสงบ


หากยอมรับได้ว่าความตายก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก็จะตระหนักว่าเราต่างมีเวลาอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด ซึ่งต้องจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ และปล่อยวางกับสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต  สะสางสิ่งที่ค้างคาให้โปร่งเบา  ใช้เวลาที่มีอยู่กับคนที่รัก สิ่งที่รักที่พอใจ ที่ให้ความสงบเย็น มองเห็นประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้อื่น และเห็นคุณค่าในตนเอง--โดยอาจไม่ต้องรู้จักหรือสนใจในธรรมะก็ได้ แต่ต้องอยู่ในครรลองของสัมมา เพราะความสุขแท้ที่ยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นบนหนทางแห่งอบาย หรือวิถีเบียดเบียน ไม่ว่าต่อตนเองหรือผู้อื่น


ด้วยความหวังได้ว่าสังคมโดยรวมจะดีขึ้น หากผู้คน
ตระหนักถึงเรื่องความตาย (ดี) และใช้ชีวิตอย่างดีเมื่อยังมีลมหายใจอยู่ ซึ่งนั่นคือการ “อยู่ดี”

ถือเป็นโจทย์ยากทั้งต่อคนนำเสนอประเด็นและคนฟัง จึงเมื่อ สารคดี ประกาศรับสมัครนักสารคดีรุ่นใหม่
มาร่วมค่ายและร่วมทีมเป็นนักเล่าเรื่องในธีม “อยู่ดี ตายดี” ก็หวั่นใจอยู่ว่าจะมีคนมาสมัครไหม

แต่ผิดคาด ประเด็นนี้กลับได้รับความสนใจแบบเจาะจงจากคนหนุ่มสาวเยาวชน ซึ่งส่วนหนึ่งเคยผ่านประสบการณ์สูญเสียคนใกล้ชิดกะทันหัน ไม่ทันได้กล่าวคำลา


มาร่วมค่าย ร่วมเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องการอยู่ดีตายดี แล้วเป็นผู้สื่อสารเรื่องนี้ออกสู่สังคม
แต่ละเรื่องที่นักสารคดีรุ่นใหม่ นักเขียน-ช่างภาพหยิบนำมาเล่า ล้วนมีแง่มุมที่เป็นภาพสะท้อนความเข้าใจและความตระหนักต่อการอยู่ดี และเตรียมพร้อมการเข้าสู่วาระสุดท้ายที่ดี

ตั้งแต่เรื่องทัศนะและท่าทีต่อความตายแบบทิเบต
ซึ่งเป็นต้นธารสายหนึ่งของแนวคิดเรื่องนี้ที่เผยแพร่อยู่ในเมืองไทย, ความลุ่มลึกต่อชีวิตของชนชาติพันธุ์ที่ผูกพันอยู่กับป่าเขาผ่านบท “ธา” ที่กลั่นกรองขับขาน, ที่พึ่งพิงทางกายทางใจของคนฝั่งซ้ายสาละวิน ริมแนวรบชายแดนเพื่อนบ้าน จนถึงคนมลายูในพื้นที่สีแดงชายแดนใต้ที่สร้างภาวะ “อยู่ดี” ด้านจิตใจด้วยศิลปะ ฯลฯ 

หลากหลายเรื่องราวประกอบส่วนปะติดปะต่อกันเป็นธีมเรื่องเล่าที่หวังว่าผู้อ่านจะได้สัมผัสคุณค่าและความหมายของการ “อยู่ดี ตายดี” เพื่อพิจารณาสมาทาน
กันตามจริตอัธยาศัยของแต่ละปัจเจก

Image

Image