“เมื่อวันก่อนพวกเราไปส่งแม่ด้วยกัน ผมไม่รู้หรอกว่าแม่ไปไหน” คิดถึงนะครับแม่ (Missing mummy) หนังสือนิทานภาพ ที่ครอบครัวของกวาง-ปรียนันท์ ศึกษานนท์ ใช้เป็นสื่อบอกเล่าการสูญเสียคุณตาให้ลูกชายฟัง
เพราะชีวิตและความตาย
เล่ากันได้ผ่านหนังสือนิทานภาพ
(สำหรับทุกคน)
“อยู่ดี ตายดี” ชีวิตงาม และความตายในอุดมคติ
เรื่อง : อารีนุช อุดมผล
ภาพ : พชรภา พิพัฒน์นัดดา
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ อาณาจักรวรรณกรรมอันกว้างใหญ่
เรื่องเล่านับร้อยได้รับการร้อยเรียงเป็นตัวอักษรด้วยลีลาทางภาษา เพื่อขับกล่อมเหล่านักเดินทางบนหน้ากระดาษให้เพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม และครุ่นคิด
เรื่องเล่าไม่ได้เป็นแค่เรื่องราว แต่แฝงด้วย “บางสิ่ง” ให้กลับมาย้อนคิดถึงเสมอ เช่นเดียวกับเมืองเล็ก ๆ ที่หากคุณลัดเลาะไปตามซอกซอยแล้ว คุณจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายแห่งวัยเยาว์ ทว่าเบื้องหลังภาพสีสดใสและเรื่องราวชวนฝันกลับมี “บางสิ่ง” ซ่อนอยู่
ขอต้อนรับคุณสู่ “เมืองหนังสือนิทานภาพ”
“แม่จะอยู่ในใจผมเสมอ” ประโยคทิ้งทวนของหนังสือ คิดถึงนะครับแม่ (Missing mummy) ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นจุดจบการจากลา แต่เป็นจุดเริ่มต้นหลังจากวันที่ไม่มีแม่อยู่อีกแล้ว
เสียงจากเมืองนิทานภาพ
: มนตร์เสน่ห์ของชีวิตและไร้ชีวิต
เมื่อประตูเมืองเปิดออกก็ได้เวลาโลดแล่นไปกับภาพและตัวอักษร ปกหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กเล่มหนึ่ง เชื้อเชิญคุณให้เปิดอ่านด้วยมนตร์เสน่ห์ของภาพวาดเป็ดสีขาวแสนละมุนชูคอขึ้นตรงสูง ราวกับชี้ให้ผู้อ่านมองขึ้นไปที่ชื่อเรื่องเหนือภาพวาดว่า เป็ด ความตาย และดอกทิวลิป
เป็ดและความตายมีชีวิตและไร้ชีวิต สองสิ่งปรากฏร่วมกัน หน้าแรกแสดงภาพเป็ดสีขาวนวลจากปลายดินสอสีเด่นหราอยู่กลางหน้ากระดาษ มันยืนนิ่งก่อนหันกลับมา เพราะสังเกตได้ว่า “บางสิ่ง” เดินตามติด
“เธอคือใคร ทำไมถึงคอยตามฉันมาตลอด”
โครงกระดูกหัวโตในชุดคลุมจ้องมองเจ้าเป็ด ก่อนจะพูดขึ้นมาว่า
“ในที่สุดเธอก็สังเกตเห็นฉัน สวัสดี ฉันคือความตาย”
ความตายที่ยากจะเข้าใจได้บัดนี้ปรากฏตัวในรูปโครงกระดูกยิ้มกว้างอย่างอ่อนโยนราวกับต้องการกล่าวว่าความตายไม่ได้น่ากลัว เราต่างมีความตายอยู่เคียงข้างเสมอมา และการจากไปเป็นเรื่องธรรมดา ดังประโยคสุดท้ายที่ความตายกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “แต่นี่ก็คือชีวิตละนะ”
เป็ด ความตาย และดอกทิวลิป เป็นหนังสือภาพขายดีที่แปลมาจาก Duck, Death and the Tulip ซึ่งได้รับการยกย่องในวงการวรรณกรรมสำหรับเด็กว่าเป็น “ปรัชญาสายนุ่มนวล” (soft philosophical) ด้วยภาพเขียนสีไม้แสนเรียบง่ายและเรื่องราวแสนงดงามประกอบกันเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารเรื่องละเอียดอ่อน หนังสือเล่มนี้จึงได้รับรางวัลวรรณกรรมเด็กนานาชาติ ALMA (The Astrid Lindgren Memorial Award) ที่มอบให้วรรณกรรมสำหรับเด็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก พร้อมกับคำชมเชยถึงผู้เขียนที่ว่า “เก่งมากที่บอกเล่าเรื่องความตายออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็อบอุ่น ตลกขบขัน และลุ่มลึกได้ถึงเพียงนี้”