Image

ในอดีตภูมินิเวศแม่น้ำ (riverscape) กับการตั้งถิ่นฐานสร้างเมืองนั้นเป็นสิ่งคู่กัน เพราะมนุษย์พึ่งพาแม่น้ำในหลากหลายมิติ ทั้งใช้ดื่มกิน เดินทาง รวมถึงอาศัยความอุดมสมบูรณ์ที่น้ำพัดพามาในการทำเกษตรและผลิตอาหาร  ถึงวันนี้เมืองถูกเปลี่ยน แม่น้ำถูกแปลง แล้วจะอยู่กันอย่างไรต่อไปคือคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ

แปลงแม่น้ำสร้างเมือง:
เชียงใหม่กับภูมินิเวศ
แม่น้ำที่เปลี่ยนไป

สายน้ำที่ถูกสาป

เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

เบื้องหน้าผมคือลำน้ำสีเทาสายเล็กไหลคดเคี้ยวอยู่ใต้อาคารบ้านเรือน ส่วนกว้างที่สุดของลำน้ำน่าจะไม่เกิน ๓ เมตร เมื่อหันมองซ้ายขวาพบว่าเราถูกขนาบด้วยกำแพงสูงราวจะปิดกั้นการมีอยู่ของร่องน้ำและชุมชนแห่งนี้  ผมก้มลอดใต้อาคารบันทึกสภาพลำน้ำไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็มาทะลุถนนอีกฝั่งหนึ่ง สิ่งสุดท้ายที่เห็นคือท่อระบายน้ำและแนวลำน้ำอันตรธานหายไปใต้ผิวถนนคอนกรีต  การเดินเท้าย้อนไปทางต้นน้ำของเราสิ้นสุดลงบริเวณข้างวัดสันติธรรม

“เราคงตาม ‘ร่องกระแจะ’ ได้สุดแค่นี้ ผมคิดว่าใต้เท้าเราน่าจะเป็นแนวท่อให้น้ำไหลผ่านชุมชน ถ้าจะทำแผนที่ลำน้ำจริงจังคงต้องหาวิธีอื่น ทำเป็นงานวิจัยปล่อยเครื่องติดตาม GPS ให้ไหลตามน้ำลงมาจากบนดอยสุเทพก็อาจจะเป็นไปได้” ดร. ดนัย ทายตะคุเอ่ยปากโยนไอเดีย ชวนเราคิดหาทางไปต่อ

ทุกคนที่ศึกษาเรื่องภูมินิเวศวิทยาคงไม่มีใครไม่รู้จัก ดนัย ทายตะคุ หนึ่งในอาจารย์ผู้บุกเบิกศาสตร์นี้ในเมืองไทย ปัจจุบันแม้จะเกษียณแล้ว แต่อาจารย์ยังสุขภาพแข็งแรง มีไฟ และสอนนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ อยู่ที่หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

Image

อาจารย์ดนัยพาเราเดินเท้าตามหาลำน้ำ ลำเหมือง ทั้งนอกและในเมืองเชียงใหม่ แกะรอยความสัมพันธ์ของเมืองและสายน้ำที่กำลังสูญหายไป

วิชา Landscape Ecology หรือ “ภูมินิเวศวิทยา” เป็นศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ บนผิวโลก มองภูมิทัศน์ให้เห็นระบบนิเวศ พยายามทำความเข้าใจระบบที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่ง ๆ ว่าแต่ละตัวละคร แต่ละผู้ร่วมทางในโลกใบนี้มีปฏิสัมพันธ์ ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร และมีวิวัฒนาการไปพร้อม ๆ กับโลกแบบไหน แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องของน้ำด้วย

“ตั้งแต่เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เราจะเห็นข่าวน้ำท่วมอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเมืองต่าง ๆ น้ำท่วมได้อย่างไร หลังน้ำลดผมเลยชวนเด็ก ๆ ที่ตัวเองสอนทั้ง ป. ตรี ป. โท มาออกภาคสนามที่นี่ หาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ ต่อเนื่องแทบทุกปี”

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเริ่มเข้าหน้าฝน อาจารย์ดนัยวางแผนเดินทางมาสำรวจเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ผู้เขียนจึงติดตามมาด้วย ขณะนั้นเราหวังเพียงว่าจะได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำกับเมือง ใครจะรู้ว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือนจะเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

เมื่อเส้นทางสัญจรของผู้คนย้ายจากทางน้ำขึ้นมาอยู่บนบก แม่น้ำก็ค่อย ๆ ถูกถม กำแพงป้องกันตลิ่งถูกสร้างขึ้น

Image

0