Image

Image

ผู้ไท
จากกองเกวียนอพยพ
ถึงผู้ไทโลก

ชาติพันธุ์อีสาน
หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์

“อพยพ มาจากฟากลาว แบกมาทุกอย่างมีดผาหลาฟืน หาบกระดอนคอนกระเดว ผูกลูกผูกม้าดึงหน้าจูงหลัง พะรุงพะรังทั้งผ้าทั้งหมอน เอามาหมดทั้งวัวควายเกวียน น้ำเต้าเหล้าไห เอามาเหมิด  เป็นฮีตเป็นคองสืบมา ฮีตใส่ข้อง คองใส่บ่า ไม่ได้ทิ้งไม่ได้ป๋า” สุรวิทย์ ศรีประไหม บรรยายภาพขบวนอพยพที่กำลังแสดงอยู่ในงานมหกรรมผู้ไทโลกให้ฟังเป็นคำลำผญา  เขาเป็นผู้ไทจากบ้านกุดสิมคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปรกติเป็นหมอแคน เป่าแคนให้แม่หมอในพิธีเหยาและเป็นนักลำผญา

Image

“ข่อยสิถามข่าวเจ้า ถามข่าวทางป๋า ถามข่าวน้า ถามข่าวทางเข่า (ข้าว) ถามข่าวเจ้ามีสองแล้วบ่ คั่นบ่มีคู่ว่อน ตั๋วอ้ายสิเข้าซอน”
ผญาเกี้ยวพาราสีของผู้ไท

“กลอนที่จะเอาไปร้องโต้ตอบกัน” เขาอธิบายความหมายของลำผญา “อย่างเราไปหาผู้หญิงบ้านอื่น เขาจะลำเป็นผญาถามข่าวเรา ‘น้องจะถามข่าวอ้าย ถามข่าวนา ถามหาเทิงข้าว ถามข่าวเจ้าว่ามีคู่ซ้อนแล้วละบ๋อ’ เราก็ตอบเขาให้ได้ ‘อ้ายนี่เนาอยู่บ้านขอนกว้าง แต่ละเว็นคิดฮอดเจ้าไม่เห็นสักเท๋อ...’ ถามมาตอบไป ๆ จนกว่าฝ่ายหนึ่งจะจนคำ  เวลาพูดโดนใจ คนฟังจะร้องเป๊บ ! ม่วนใส่กัน เพราะเขาก็ฟังอยู่ สนุกสนานเฮฮา กรี๊ดโฮ  ผู้ชายที่ผญาเก่งผญาหลาย ผู้หญิงจะจนมุม หมดคำสิพูด มีแต่ความเก่า ‘ยอมแล้วอ้ายเอ๋ย ความเจ้าหลาย’ เขินอายไป  ยอมแพ้บอกในกลอนลำ”

ในวันงานผู้ไทโลกครั้งที่ ๑๓ ปี ๒๕๖๗ เขาได้รับเชิญมาร่วมงาน แสดงลำผญาโต้ตอบกับพี่น้องภูไทจากเมืองต่าง ๆ ได้สนุกสนานสามัคคี

“ผู้ไทเรามีล้านกว่าคนใน ๑๑ จังหวัด เราต้องจับมือกันให้ได้ จึงตั้งสมาคมผู้ไทโลกเมื่อปี ๒๕๕๔ มีพี่น้องไทดำจากอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  ลาวเวียงจากจังหวัดนครนายก  ผู้ไทจากลาว เวียดนาม มากันหมด  พี่น้องจากฮาวาย อเมริกาก็มาด้วย”

คำประกาศของ ดร. วิทยา อินาลา ผู้นำการก่อตั้งและเป็นนายกสมาคมผู้ไทโลก

“ให้ผู้ไททั้งโลกเป็นหนึ่งเดียว คนผู้ไทเราอยู่ทั้งไทย ลาว เวียดนาม รวมทั้งที่อพยพช่วงสงครามเวียดนามไปอยู่อเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และทั่วโลก ให้ได้มารู้จักกันผ่านออนไลน์ในยุคนี้”

จากมิติทางวัฒนธรรมไปสู่ด้านเศรษฐกิจ

“ทำเรื่องภูมิปัญญาแล้วต้องได้เรื่องเศรษฐกิจด้วยพี่น้องผู้ไทต้องได้เศรษฐกิจที่ดี แล้วลูกหลานก็ได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างพิธีเหยาที่หนองสูง ต่อไปทั้งโลกต้องรู้จัก เรามีเสื้อผ้า วัฒนธรรม ภูมิปัญญา  ทำอย่างไรให้ผู้ไททั่วโลกใช้เหมือนกันหมด ก็จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านการแต่งกาย จะช่วยให้ภูมิปัญญาการแต่งกายของท้องถิ่นผู้ไทยั่งยืน สมาคมผู้ไทโลกจะเป็นตัวกลางในการสื่อจากหมู่บ้านไปสู่ระดับโลก เราจึงจัดงานผู้ไทโลก”

เป็นงานที่มีชื่อเสียงในแถบเทือกเขาภูพานอีสานเหนือไปจนถึงทั่วโลกก็ว่าได้ ในการสะท้อนภาพความเป็นสากลและส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ว่าคนผู้ไทมิใช่มีอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ยังมีกลุ่มที่อาศัยอยู่ในนานาประเทศอีกมากมาย

นิทรรศการและการแสดงในขบวนแห่ รวมทั้งในหนังสือตำราหลากหลายแหล่งที่เขียนถึงชาติพันธุ์ผู้ไทเล่าว่า ราวปี ๒๓๘๐ อพยพจากเมืองวัง ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังสยาม เนื่องจากไม่พอใจการปกครองของพระยาก่ำ เจ้าเมืองฝั่งลาว

แต่ถิ่นฐานดั้งเดิมผู้ไทอยู่บริเวณตอนเหนือของลาวและเวียดนามซึ่งต่อแดนกับภาคใต้ของจีน แถบลุ่มแม่น้ำดำกับแม่น้ำแดงในเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ปัจจุบันเรียกว่ากลุ่มผู้ไทดำ

ประเพณีพิธีกรรมของผู้ไทดำเนินไปเช่นเดียวกับไทลาวที่ยึดถือ “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ตามที่สืบทอดมา ฮีตสิบสองเป็นขนบธรรมเนียมในรอบปีที่จะมีประเพณีที่อิงอยู่กับพุทธศาสนา แสดงออกถึงความสัมพันธ์ ระหว่างคนกับธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ

Image