Image

Image

Image

Image

กะเลิง
ในวันที่ไม่สักรูปนกข้างแก้ม

ชาติพันธุ์อีสาน
หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

กลองมโหระทึกดอนตาลในวัฒนธรรมสำริดดองซอน อายุ ๓,๐๐๐ ปี นับว่าใหญ่สุดเท่าที่พบในเมืองไทยสันนิษฐานว่าใช้ตีในพิธีกรรมสำคัญอย่างการขอฝน ชาวกะเลิงมีถิ่นฐานอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจึงเป็นไปได้ที่จะอยู่ร่วม วัฒนธรรมดองซอนในยุคนั้นด้วย

Image

“กะเลิงนี่ที่เห็นชัด ๆ เลย จะสักรูปนกตัวหนึ่งไว้ที่แก้ม” คำเล่าจาก สุนทร ปาวงศ์ อดีตศึกษานิเทศก์จังหวัดมุกดาหาร เกษียณอายุราชการมา ๑๐ ปี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหน่วยจัดการศึกษาอำเภอดอนตาล วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร

สมัยก่อนหากเห็นรูปนกที่แก้มก็จะรู้ว่าคนไหนเป็นกะเลิง ชนชาติพันธุ์หนึ่งในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครสักรูปนกที่แก้มกันแล้ว จะบอกความเป็นกะเลิงกันด้วยอะไร

สุนทรพยายามไล่เรียงหาเกณฑ์ที่จะใช้แยกแยะ

ประเพณีวัฒนธรรมเป็นแบบเดียวกับชาติพันธุ์ลาว

การแต่งกาย กะเลิงใช้ผ้าฝ้ายเข็นและทอมือ ย้อมคราม

หากแบ่งโดยเกณฑ์ภาษา กะเลิงดอนตาลใช้ภาษาลาว ขณะที่กะเลิงนาสะเม็งพูดภาษาผู้ไท แต่เป็นคนละสำเนียงกับผู้ไทคำชะอี

“ตอนแยกจังหวัดเมื่อปี ๒๕๒๔ จัดงานใหญ่รวมชนเผ่ามุกดาหารจากอำเภอต่าง ๆ ได้แปดเผ่า บอกว่ากะเลิงอยู่อำเภอดอนตาล” ตามคำเล่าของ กีรติ ปาวงศ์ อดีตสาธารณสุขอำเภอดอนตาล ปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอดอนตาล และเป็นสมาชิก “วิทยาลัย ฒ ผู้เฒ่า ไทกะเลิง”

“แต่คนรุ่นปู่รุ่นย่าก็ไม่ได้บอกว่าเราเป็นกะเลิง เล่าแต่ว่าย้ายถิ่นฐานมาจากฝั่งโขงทางซ้าย ก็อาจจะใช่ตามที่ว่าถูกกวาดต้อนมาสมัยรัชกาลที่ ๓ หลายเผ่าปนกัน”

แต่เมื่อถูกถามถึงสิ่งบ่งบอกความเป็นกะเลิง กีรติให้คำตอบทำนองเดียวกับสุนทร

“เอกลักษณ์กะเลิงที่แตกต่างจากเผ่าอื่น จะสักลายที่ขาขึ้นมาถึงพุง สักนกน้อยไว้ที่แก้ม คนโบราณบอกว่าสาวจะชอบ”

แต่บางข้อสันนิษฐานว่า นกในรอยสักนั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำวิญญาณคนตายไปสู่สวรรค์ เช่นเดียวกับที่ปรากฏรูปนกบนลายกลองมโหระทึกสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

“...อยู่มาช้านานหลายชั่วคนแล้ว จนไม่รู้ว่าพวกเกลิงมาจากไหน ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า แลสักแก้มเปนรูปนก...”

Image