Image

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช
"คนบ้าแผนที่" (Map Nut)
ผู้ต่อจิกซอว์ประวัติศาสตร์สยาม

INTERVIEW

บทนำ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช” อาจเป็นชื่อที่คนไทยจำนวนมากไม่คุ้นเคย

แต่ในวงการสะสม “แผนที่โบราณ” วงวิชาการประวัติศาสตร์ เจ้าของนามนี้ได้รับการยอมรับว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญแผนที่โบราณอย่างหาตัวจับได้ยาก

นับถึงตอนนี้เกิน ๒ ทศวรรษแล้วตั้งแต่เขาเดินหลงเข้าไปในร้านขายแผนที่แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนแล้วไปได้แผนที่อยุธยาโบราณแผ่นหนึ่ง จากนั้นก็ตามซื้อ ตามเก็บสะสมเป็นจำนวนมากในแบบที่นักประวัติศาสตร์ไม่เคยจินตนาการถึง ด้วยทราบกันดีว่า “แผนที่โบราณ” แม้จะมีคุณค่าในการศึกษามากเพียงใดก็ยากที่จะเข้าถึง เพราะมีมูลค่าสูงลิบลิ่วในตลาดของเก่า

ธวัชชัยไม่เพียงสะสม เขายัง “ค้นคว้า” เรื่องราวแวดล้อมแผนที่แต่ละแผ่น จากนั้นก็นำเสนอสู่สาธารณะผ่านช่องทางต่าง ๆ นานเกือบ ๓๐ ปี ซึ่งสารคดี ก็เคยมีโอกาสนำเสนอการค้นพบของเขาในห้วงทศวรรษ ๒๕๔๐ มาแล้ว

ครั้งหนึ่งความสงสัยและบากบั่นของธวัชชัยยังนำไปสู่การค้นพบว่า “ชิแอร์โน” (Scierno) น่าจะเป็น “ชื่อเรียกแรกสุด” ของกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏบนแผนที่ของชาวตะวันตก  สำหรับนักประวัติศาสตร์ นี่คือการเปิดมิติใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงเก่าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ปี ๒๕๖๗/ค.ศ. ๒๐๒๔ ธวัชชัยในวัย ๖๐ ปี ยังมีเรี่ยวแรงออกตามหาแผนที่อยุธยาโบราณ เอกสารจดหมายเหตุ ภาพพิมพ์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสยามที่ตกหล่นอยู่ในต่างประเทศ

เมื่อ สารคดี นำเสนอเรื่องแผนที่ เราจึงขอให้ธวัชชัยเล่าถึงการผจญภัยในโลก “แผนที่โบราณ” ที่เขาหลงใหลและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอีกครั้ง

เริ่มต้นสะสมแผนที่อย่างไร

ต้องย้อนไปเล่าถึงนาทีที่ผมต้องมนตร์เสน่ห์ของแผนที่และดึงประวัติศาสตร์เข้ามาในชีวิต เริ่มจากความบังเอิญที่ได้สบตากับแผนที่แผ่นหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง จำได้ดีว่าบ่ายวันหนึ่ง (ปี ๒๕๓๙/ค.ศ. ๑๙๙๖) ตอนยังอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ผมไปร้านตัดผมย่านเซาต์เคนซิงตัน (South Kensington) ของกรุงลอนดอนแล้วต้องรอคิวประมาณครึ่งชั่วโมง เลยไปเดินเตร่ฆ่าเวลา ปรากฏว่าผ่านร้าน The Map House ซึ่งอยู่ในซอยถัดไป ร้านนี้เป็นร้านเก่าแก่ ขายแผนที่โบราณมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ของไทย ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเรื่องแผนที่ แต่เห็นร้านเก๋ดีผนังหน้าร้านเป็นกำแพงอิฐสีน้ำเงินเข้ม ตัดด้วยกระจกบานใหญ่โชว์แผนที่ใส่กรอบสะดุดตา ผมพอมีเวลาเลยแวะเข้าไป เผื่อจะได้แผนที่สวย ๆ ไปประดับห้อง

คนที่พาดูคือ ฟิลิป เคอร์ติส (Philip Curtis) ตอนนั้นเขาน่าจะอายุประมาณ ๓๐ ต้น ๆ ทุกวันนี้เป็นรุ่นใหญ่แล้ว ผมบอกเขาว่าผมสนใจแผนที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย เขาเลยพาไปห้อง map gallery ที่ชั้นบน ด้านในมีโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ ล้อมด้วยตู้แผนที่มีลิ้นชักแยกหมวดว่าเป็นแผนที่ทวีปใด บริเวณไหน ฟิลิปเอาแผนที่มากองไว้บนโต๊ะจำนวนหนึ่ง ผมสะดุดตาสองสามแผ่น

แผ่นแรกคือแผนที่ราชอาณาจักรสยาม โดย ปีแยร์ดูวาล (CARTE DU ROYAUME DE SIAM et des Pays Circonvoisins PAR P. DU-VAL) มีภาพช้างสองเชือกตรงมุมขวาล่าง คนไทยคุ้นเคยแผนที่แผ่นนี้ดีเพราะปรากฏในละครบ่อย แผ่นแรกนี้เขียนราคาไว้ที่มุมล่างว่า ๗,๕๐๐ ไม่มีหน่วยเงิน แต่ที่อังกฤษรู้กันว่าคือปอนด์ สมัยนั้น ๔๐ บาทแลกได้ ๑ ปอนด์  อีกแผ่นคือแผนที่กรุงศรีอยุธยา สยามหรือยูเดีย นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม (SIAM ou lUDIA, Capitalle du Royaume de Siam) เขียนราคา ๖,๐๐๐ ปอนด์ ฟิลิปบอกว่าแผนที่แผ่นแรกมีลูกค้าจอง ส่วนแผ่นหลังถ้าสนใจเขาจะลดเหลือ ๕,๐๐๐ ปอนด์ (ราว ๒ แสนบาท) ซึ่งก็แพงอยู่ดี

Image

แผนที่ VILLE DE SIAM ou JUTHIA (๑๖๕ x ๒๐๕ มม.) โดย ฌัก นีกอลา แบลแล็ง ช่างแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี ๒๓๐๗/ค.ศ. ๑๗๖๔ เป็นแผนที่แผ่นแรกของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช และแผ่นสุดท้ายที่พิมพ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

แผนที่แผ่นแรกเปลี่ยนชีวิตไป
อย่างไรบ้าง

แผนที่ VILLE DE SIAM ou JUTHIA คือจุดเริ่ม ผมเห็นคำว่า JUTHIA ก็เดาว่าคือ “อยุธยา” ตอนนั้นไม่รู้ด้วยว่าอยุธยาหน้าตาเป็นอย่างไร ความทรงจำเกี่ยวกับอยุธยามีเพียงการไปไหว้หลวงพ่อโตที่วัดพนัญเชิงสมัยเด็กเท่านั้น ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็คืนครูไปหมด

Image