Image

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ขอขอบคุณ ดร. สงกรณ์ เสียงสืบชาติ
อาจารย์พิเศษภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"คุณอ่านแผนที่เก่งใช่ไหม สิบตรีเบลค" นายพลถาม

“เก่งพอตัวครับท่าน” 
นายพลหมุนแผนที่บนโต๊ะหันทิศให้สิบตรีที่ยืนตรงอยู่ตรงหน้าอ่านได้ เขาชี้ตำแหน่งปัจจุบันและเลื่อนมือไปชี้ตำแหน่งที่ตั้งกองพันที่ ๒ ซึ่งอยู่หลังแนวปะทะในเขตยึดครองของเยอรมัน พร้อมกับสั่งภารกิจสำคัญคือการไปแจ้งข่าวแก่นายพันให้ยับยั้งการเคลื่อนทัพบุกลึกเข้าไป เพราะนี่คือหลุมพรางของข้าศึกซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียชีวิตทหารกว่า ๑,๖๐๐ นาย และหนึ่งในนั้นคือพี่ชายของเบลค

สายโทรศัพท์ถูกเยอรมันตัดไปแล้ว มีแต่การเดินเท้าเข้าไปแจ้งข่าวให้ทันเวลาก่อนจะมีคำสั่งบุกเท่านั้น 

เบลคเก็บแผนที่กระดาษใส่กระเป๋า รับสัมภาระยังชีพ และรีบออกเดินทาง

…[กดปุ่ม Pause]…

เรากำลังดูตอนต้นเรื่องของภาพยนตร์ 1917 ซึ่งเป็นฉากมืดๆ ในห้องบัญชาการที่มีเพียงแสงไฟส่องบนแผนที่ 

1917 เป็นเหตุการณ์สมมุติในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การทำสงครามฆ่าล้างกันของมนุษย์ที่มีมาแต่อดีตและยังไม่เคยจบสิ้น แม้กระทั่งบนฟีดข่าวในเช้าทุกวันนี้

แต่ในยุคดิจิทัลพวกเราข้องเกี่ยวกับแผนที่ส่วนใหญ่เมื่อต้องการความช่วยเหลือในการนำทางหรือหาร้านอาหาร และด้วยแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เราไม่ต้องอ่านแผนที่เป็น หรือสนใจว่าสภาพพื้นที่รอบๆ จะเป็นอย่างไร แค่เชื่อตามลูกศรชี้ไปจนกว่าจะมีเสียงบอก “คุณถึงจุดหมายแล้ว”

กว่าจะเป็นดิจิทัลแมปแสนสะดวกสบาย ศาสตร์แห่งแผนที่มีความเป็นมายาวนานหลายพันปี และมีผู้คนมากมายที่ทุ่มเทชีวิตให้ จนอาจรวบรวมและเรียบเรียงได้เป็นสารานุกรมหนาๆ 

บนหน้ากระดาษไม่กี่หน้าต่อไปนี้ คิดว่าจะสนุกกว่า หากเราจะมาลองแกะรอยประวัติศาสตร์จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ พร้อมกับอ่านแผนที่ให้เก่งเหมือนสิบตรีเบลค

เกิดวันหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ล่ม ดาวเทียมร่วง ไฟฟ้าดับ หรือทะลุมิติเวลาข้ามไปอดีต และเราโชคดีมีแผนที่กระดาษในมือ การอ่านแผนที่เป็นอาจช่วยให้เราเอาตัวรอดได้

เบื้องหลังการสร้างแผนที่นั้นต้องอาศัยทั้งศิลปะ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมือง

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ไว้ก่อนคือ แผนที่ซ่อนความหมายและความนัยที่คนสร้างต้องการถ่ายทอดเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ  แผนที่อาจดูเหมือนตัวแทนของความจริง แต่มันก็มีโอกาสไม่ถูกต้องหรือผิดไปจากความจริงก็เป็นได้

พร้อมแล้วเราก็เริ่มออกเดินทาง เป็นเพื่อนกับสิบตรีเบลค
...

[สปอยล์ : สิบตรีเบลคไม่รู้หรอกว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาแผนที่ของเขาจะชุ่มไปด้วยเลือดของเขาเอง]

Image

 แผนที่ของอัลอิดริซี แสดงถึงความเชื่อว่าโลกกลม ด้านบนเป็นทิศใต้ คือทวีปแอฟริกา เห็นแม่น้ำไนล์ไหลจากภูเขากลางทวีปแอฟริกามาลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้านล่างคือทวีปยุโรปกับเอเชีย ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรซึ่งยังไม่มีการสำรวจ  สร้างบนแผ่นโลหะเงินหนัก ๑๘๐ กิโลกรัม เสร็จเมื่อ ค.ศ. ๑๑๕๔ แต่ถูกทำลายในช่วงกบฏหลังกษัตริย์โรเจอร์ที่ ๒ สวรรคต โชคดีที่ภาพถูกคัดลอกต่อๆ กันมา ลองพลิกภาพกลับหัวจะคุ้นเคยกับทวีปที่เห็นมากขึ้น

ภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/db/Al-Idrisi%27s_world_map.JPG

เหนือ-ใต้ ออก-ตก

ทิศกับแผนที่แทบจะเป็นของคู่กัน

ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทิศสำคัญที่เราเรียนรู้จากการเฝ้าดูพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในทุก ๆ วัน ขณะที่คนซีกโลกเหนือสังเกตเห็นดาวเหนือปักหมุดนิ่งบนท้องฟ้า ให้ดาวดวงอื่นหมุนรอบไปตลอดคืน เป็นตัวกำหนดว่านี่คือทิศเหนือ ส่วนทิศใต้ก็คือทิศตรงข้ามกับทิศเหนือ แต่ไม่มีดาวใดเป็นจุดสังเกตที่แม่นยำ

นี่คือทิศหลักทั้งสี่ที่มนุษย์รู้จักกันมานานจากการสังเกตธรรมชาติ และทำให้เกิดทิศทางหลักสองแนว คือ แนวตะวันออก-ตะวันตก กับแนวเหนือ-ใต้ ตัดกันเป็นกากบาท ขอเพียงรู้ทิศใดทิศหนึ่งเราก็หาทิศที่เหลือได้โดยอัตโนมัติ

แผนที่ก็ยึดหลักสี่ทิศและวางภาพตามสองแนวนี้เช่นกัน  แผนที่ที่คุ้นเคยมักหันทิศเหนือขึ้นบน แต่ก็มีแผนที่ซึ่งหันทิศใต้หรือทิศอื่นขึ้นบน โดยเฉพาะแผนที่สมัยโบราณในยุคกลาง อาจเพราะต้องการสื่อถึงทิศทางที่แผนที่จะนำทางไป การวางให้จุดเริ่มต้นอยู่ด้านล่างและปลายทางอยู่ด้านบน สอดคล้องกับการมองแผนที่เทียบกับภูมิประเทศเบื้องหน้า  คล้ายกับแผนที่กูเกิลซึ่งจะหมุนภาพเปลี่ยนไปตามทิศทางของถนนที่วิ่งไป โดยไม่ยึดให้ทิศเหนือต้องอยู่บน 

scrollable-image

 อัลอิดริซียังเขียนหนังสือรวมแผนที่ชื่อ Tabula Rogeriana หรือ Roger’s Book เพื่อบันทึกแผนที่เจาะละเอียดส่วนต่างๆ ของโลก มีถึง ๗๐ ภาพ จนกระทั่ง ๘๐๐ ปี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๗ นักเขียนแผนที่ชาวเยอรมันชื่อ คอนราด มิลเลอร์ (Konrad Miller) จึงนำภาพทั้งหมดมาต่อกันเป็นแผนที่ใหญ่ตาราง ๑๐ x ๗ เรียกว่า The Large Idrisi Map  แผนที่นี้ทิศใต้อยู่บนเหมือนแผนที่โลหะเงิน ไล่จากมุมขวาล่าง เกาะอังกฤษ ทวีปยุโรป ไปจนถึงอินเดีย จีน และเกาะชวา (?) ทางมุมซ้ายบน ตอนกลางมีทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คาบสมุทรอาหรับและทวีปแอฟริกา

ภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d3/TabulaRogeriana.jpg

Image