สมัยนี้แล้วใครยังมานั่งกางแผนที่กระดาษ ?

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายคำว่า “กาง” หมายถึง ถ่างออก คลี่ เหยียดออกไป ขึงออกไป แบะออก สมัยก่อนจึงใช้คำว่า “กางแผนที่” เพราะเวลาไม่ใช้งานจะถูกพับเก็บไว้ก่อน  เดี๋ยวนี้ผู้คนนิยมใช้แผนที่ดิจิทัลซึ่งไม่ต้องแผ่กระดาษแล้ว จึงหันมาเรียก “เปิดแผนที่”

ถึงอย่างนั้นเมื่อลองสำรวจคนรอบข้างกลับพบว่ายังมีจำนวนไม่น้อยในหลากหลายอาชีพเลือกกางแผนที่เป็นประจำ เหตุผลพวกเขาสอดคล้องไปทางเดียวคือ “สิ่งที่ต้องการ” ไม่มีในแผนที่ดิจิทัล

คือเสน่ห์ที่ทำให้การคลี่กางกระดาษ-ไวนิลยังคงเกิดขึ้นเสมอกลางวงอภิปรายเรื่องราว

ชวนรู้จักผู้คนมากหน้ากับแผนที่หลายหลาก บ้างโดดเด่นตรงแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ แนวเขตปกครอง ชั้นหินและลักษณะทางธรณีวิทยา เส้นทางถนน ที่ตั้งชุมชน ฯลฯ

ต่อให้อ่านแผนที่ไม่ออกยังได้สนุกสายตาไปกับสารพัดเส้นสีและรูปทรงสัณฐาน

เก๋ชนิดที่ว่าถ้าเบื่อวัสดุบุผนังแบบเดิมให้วางกางเรียงแผนที่หนีความจำเจไปเลย

Image

สารบัญแผนที่ภูมิประเทศ ช่วยให้ค้นหาหมายเลขระวางของพื้นที่สำรวจสะดวกขึ้น

แผนที่ธรณีวิทยา
บันทึกพื้นผิวย่อส่วน
ของโลกไร้พรมแดน

คนก(ล)างแผนที่

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ซูฮกให้แผนที่ธรณีวิทยา (geologic map) เป็นความรู้เข้มข้นสุดบนโลกกระดาษ

ไม่ใช่แค่ข้นคลั่กด้วยความรู้ ยังเป็นการผสมผสานระหว่างความจริงและความงาม

วันที่นัดพบครู-ศิษย์สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ “ภูผาผึ้ง” เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พวกเขากำลังเรียนรู้วิธีทำแผนที่ พลอยได้รู้จักแผนที่ภูมิประเทศ แผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของที่ใช้ในวิชาชีพ

เล่าแบบมัดรวม “แผนที่ภูมิประเทศ” (topographic map) จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร จึงมักเรียกกันว่า “แผนที่ทหาร” หรือ “แผนที่ฐาน” (base map) แต่ทหารก็ทำหลายแผนที่เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้การยอมรับให้เป็นข้อมูลชั้นต้นเมื่ออ้างอิงสรรพสิ่งบนพื้นโลก หลายอาชีพนิยมใช้แผนที่ภูมิประเทศเมื่อต้องการรู้ขนาด รูปร่าง ความสูงต่ำ ลักษณะวางตัวของพื้นที่ แหล่งน้ำ ทางน้ำ มหาสมุทร ไปจนสิ่งปลูกสร้างฝีมือมนุษย์อย่างถนน หมู่บ้าน บนแผนที่มีครบทั้งระวาง มาตราส่วน ระบบพิกัด คำอธิบายของสัญลักษณ์และจำแนกเส้น-สีให้ผู้ใช้งานนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์บริหารจัดการที่ดินและสิ่งปกคลุมดินได้เหมาะสม

แต่แผนที่ทหารไม่มีจำหน่ายทั่วไป ต้องซื้อจากหน่วยงานทหารเพราะมีข้อมูลความปลอดภัยของประเทศที่อาจใช้ประโยชน์วางแผนพัฒนาประเทศเชิงยุทธศาสตร์ทางพื้นที่ อย่างการเลือกที่ตั้งค่ายทหาร การทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ ยิ่งแผนที่ภูมิศาสตร์แบบกระดาษด้วยแล้วถือว่ามีประสิทธิภาพมากในการดูภาพกว้าง

“ประโยชน์ที่ทางธรณีวิทยาได้จากแผนที่ภูมิประเทศคือ ‘contour line’ เส้นชั้นความสูงที่ลากผ่านจุดต่าง ๆ ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเท่ากัน ยิ่งเส้นคอนทัวร์อยู่ชิดแสดงว่าภูเขานั้นชันมาก คนที่ดูแผนที่ก่อนไปเดินภูเขาจะประเมินตนเองได้ว่าร่างกายสามารถขึ้นได้สูงแค่ไหน ยิ่งภูเขาชันการหายใจยิ่งลำบาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงเร็วมากในช่วงระยะห่างสั้น ๆ”

Image

ดร. พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ อธิบายความหมายของสีสันบนแผนที่ธรณีวิทยา ไม่ใช่แค่ข้นคลั่กด้วยความรู้ ยังผสมผสานระหว่างความจริงและความงาม

“สีทางแผนที่ธรณีวิทยาเป็นภาษาสากล ทุกชนชาติจึงดูแผนที่ธรณีวิทยาของประเทศอื่นเข้าใจตรงกันทันที”

Image

Image