Image

แผนที่เดินดินเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน ดังเช่นหมู่บ้านคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ใช้แผนที่เดินดินช่วยทำความเข้าใจและวางแผนในการฟื้นฟูลำห้วยจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว 

แผนที่นักสู้
ของผู้ “เดินดิน”

คนก(ล)างแผนที่

เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

“ที๊งคูเท๊ะฌี้” หรือ “ต้นน้ำดีที่อมก๋อย” เป็นชื่อแผนที่ที่ชาวกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยกันขีดเขียน เพื่อแสดงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแหล่งน้ำ

คำว่า “อมก๋อย” ในภาษาลัวะแปลว่าขุนน้ำหรือต้นน้ำ คำว่า “ที๊งคูเท๊ะ” เป็นภาษาถิ่นกะเหรี่ยงโปว์ แปลว่าต้นน้ำ  และ “ฌี้” แปลว่าดีหรือสวย ทั้งสองคำรวมกันเป็น “ต้นน้ำดี” เป็นชื่อเรียกเหมาะสมที่สุดของแผนที่ สื่อความตรงตามเจตนารมณ์ของชาวชุมชนบนดอยสูง

บ้านเรือน วัด ถนน เกาะกลุ่มเป็นชุมชนที่ตำแหน่งมุมบนซ้ายของแผนที่ ใต้ลงมาคือแหล่งทรัพยากรหล่อเลี้ยงชุมชน จากจุดบรรจบของห้วยมะขามกับห้วยผาขาวเป็นบริเวณพบแร่ถ่านหินที่จะกลายเป็นเขตเหมือง เส้นสีฟ้าทอดยาวพาดผ่านกลางกระดาษจนสุดขอบด้านล่าง สองข้างทางเต็มไปด้วยลำห้วยสาขา จากทิศเหนือจดทิศใต้ เช่น ห้วยโดยดังกล๊อง ห้วยทีแวคี ห้วยฌี๊ล่างท่อง ห้วยกองต๊อก ห้วยผีปาน เป็นต้น เส้นสีเงินแทนลำน้ำสาขาไหลมาบรรจบห้วยผาขาวที่เป็นลำน้ำหลัก

นอกจากแหล่งน้ำสำคัญต่าง ๆ แล้ว แผนที่ยังแสดงตำแหน่งไร่ฟักทอง ไร่มะเขือเทศ นาข้าว ที่ตั้งป่าจิตวิญญาณขนาดประมาณ ๓๙ ไร่ พื้นที่เลี้ยงวัว จุดขุดพบถ้วย จาน หม้อดินโบราณ รวมทั้งไปป์ หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่าโมะ จุดเลี้ยงผีนาหรือเสี้ยนผีนาที่คนกะเบอะดินจะทำกันสม่ำเสมอหลังเพาะปลูกแล้วเสร็จและช่วงข้าวตั้งท้อง เพื่อขอให้ผลผลิตและราคาดี 

สัญลักษณ์ทั้งหลายบนแผนที่ ตั้งแต่รูปวาดมะเขือเทศ ฟักทอง วัว ปลา ปูในลำห้วยลำธาร บ่อน้ำ ต้นไม้ขนาดใหญ่ในธรรมชาติ ปูพรมไปทั่วทั้งกระดาษ คงทำให้คนดูแผนที่เข้าใจว่านี่เป็นดินแดนของคนผลิตอาหารและเป็นหมู่บ้านอันสงบสุข

แต่...

“เราไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย”

Image

หลังหมู่บ้านเป็นไร่ฟักทอง มะเขือเทศ นาข้าว แหล่งน้ำซับ แหล่งเลี้ยงวัว  มีป่าจิตวิญญาณขนาดประมาณ ๓๙ ไร่  และจุดขุดพบถ้วย จาน หม้อดินโบราณ รวมทั้งไปป์ หรือภาษากะเหรี่ยงเรียกว่าโมะ

ที๊งคูเท๊ะฌี้

แม้แทบทุกหนแห่งบนแผนที่จะถูกระบายด้วยสีเขียวกับสีฟ้า แต่ พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนที่เกิดและเติบโตภายในหมู่บ้านเล่าว่า “ที๊งคูเท๊ะฌี้” ถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายอันตรายที่จะเกิดกับชุมชนต่างหาก เธอบอกว่าการทำแผนที่เป็นหมุดหมายหนึ่งของการต่อสู้และก้าวย่างคนอมก๋อย หลังโครงการเหมืองถ่านหินคืบคลานเข้ามา

“ตั้งแต่ถ่านหินซับบิทูมินัสถูกค้นพบในลำห้วยที่พวกเราใช้ดำรงชีวิต มีสายแร่อยู่ที่ห้วยผาขาวกับห้วยมะขาม โครงการเหมืองถ่านหินก็เข้ามา”

ข้อห่วงกังวลของชาวกะเบอะดินคือเหมืองแร่ถ่านหินจะสร้างมลพิษในน้ำและอากาศ กระทบวิถีการทำเกษตร และชุมชนอาจต้องย้ายหนีเหมือง 

Image