Image

ทีม Refield Lab สามคนจากซ้ายไปขวา ได้แก่ อรกมล นิละนนท์, นักรบ สายเทพ และ อัตนา วสุวัฒนะ ทีม mor and farmer สามคนถัดมา ได้แก่ ธาริต บรรเทิงจิตร, รินรดา ราชคีรี และ ภาสุร์ นิมมล 

แผนที่ (เดินเล่น) ชุมชน
ย่อยเรื่องยากมาไว้ในมือ

คนก(ล)างแผนที่

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

เจ๋งดีที่มีคนคิดว่า “แผนที่ชุมชน” เป็นได้มากกว่านำเที่ยว

พวกเขาจึงคิดวิธีเดินเล่นให้คนพื้นที่นำไปใช้พัฒนาชุมชน

เกิดเป็น “mapmap GO! บางกอกใหญ่” แผนที่กระดาษขนาด A1 ที่ชาวภูมิสถาปนิก “Refield Lab” ผู้สนใจการวิเคราะห์พื้นที่โดยเชื่อมโยงกับความรู้งานออกแบบ นำแพลตฟอร์มดิจิทัลชื่อ mapmap studio ที่กลุ่มนักออกแบบ “mor and farmer” ผู้สันทัดการนำข้อมูลวิจัยมาสร้างเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเคยทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้กรุงเทพมหานครมาต่อยอดฐานข้อมูล กลายเป็นแผนที่ที่ชวนผู้คนมาตีซี้กับเมืองชื่อเบ้อเร่อแต่มีขนาดเพียง ๖.๑๘ ตารางกิโลเมตร...ถ้าเดินได้ก็เดินเถอะ !

“พวกเราเคยเห็น ‘GoodWalk Map’ ของลอนดอนสำรวจเมืองเพื่อหาเส้นทางเดินเงียบสงบให้ผู้คนอังกฤษมีแนวคิดเรื่อง slow life แม้ทั้งเกาะจะมีถนนสำหรับรถยังหาวิธีทำให้คนขับช้าที่สุด พร้อมพัฒนาทางเดินควบคู่  ผมสนใจ ‘การเดินเมือง’ พอรู้จักเครือข่ายกลุ่ม ‘ยังธน’ ผลักดันให้คนฝั่งธนบุรีลุกขึ้นมาพัฒนาย่าน และบริษัท ‘CROSS and Friends’ ที่ตั้งอยู่บนถนนอิสรภาพมีแนวคิดเรื่องการแบ่งพื้นที่ให้คนบางกอกใหญ่ร่วมใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมต่าง ๆ มีโอกาสเหมาะจึงคุยกันว่าอยากทำแผนที่ ‘เมืองที่ผู้คนสามารถเดินได้’ อาจใช้ขนส่งสาธารณะควบคู่การเดินอีกหน่อยก็สามารถไปถึงสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเราอยากให้เป็นข้อมูลที่ได้จากคนพื้นที่จริง ๆ จึงต้องเลือกชุมชนที่มีเครือข่ายทำงานอยู่จะได้อำนวยความสะดวกในการสำรวจ”

นักรบ สายเทพ ภูมิสถาปนิกและนักวิจัย Refield Lab ย้อนความตั้งใจแรกที่ทำให้ตื่นเต้นกับมัน 

ธาริต บรรเทิงจิตร สถาปนิกข้อมูล mor and farmer ผู้ออกแบบและจัดทำแผนที่วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ เสริมเบื้องหลังภารกิจเฟ้นเส้นทางย่านที่รุ่มรวยด้วยสินทรัพย์ประดามี

“บางกอกใหญ่มีร่องรอยประวัติศาสตร์เด่นชัดเพราะเป็นกรุงธนบุรีเก่า มีโบราณสถานสำคัญอย่างวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีศาสนสถานเก่าแก่สะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด มีตลาดและชุมชนดั้งเดิมกระจายตัวอยู่มาก ทำให้พื้นที่มีศิลปวัฒนธรรมเด่นในอัตลักษณ์ แต่นอกจากวัดอรุณฯ ก็ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราจึงอยากรวบรวมมาไฮไลต์ให้ผู้คนได้สังเกตเห็นชัด”

ยังมีเส้นทางน่าเดินสำหรับนักทอดน่องที่ชื่นชอบพื้นที่สีเขียวและสนใจวิถีชีวิตแบบชุมชนเกษตร

อรกมล นิละนนท์ และ อัตนา วสุวัฒนะ สองสาวภูมิสถาปนิกและนักวิจัยทีม Refif ield Lab สลับเล่าประสบการณ์ลงพื้นที่และเสริมข้อมูลน่าสนใจร่วมกับ รินรดา ราชคีรี นักวิจัย mor and farmer

“ ‘ปล่อยให้เดินหลงบ้างคงไม่เป็นไร’ เสน่ห์ของการเดินเที่ยวชุมชน คือการปรับเปลี่ยนเส้นทางได้ตามใจเรา ไม่ต้องเดินให้ครบวงรอบหรือไปตาม แผนที่แนะนำอย่างเดียว”

แผนที่ที่มีข้อมูลดีจะช่วยให้นักพัฒนามองเห็นศักยภาพและปัญหาของเมืองได้ตรงจุด สามารถวางแผนฟื้นฟูเมืองให้น่าอยู่น่าเดินเที่ยวเล่นต่อไปได้ในอนาคต  

Image